ขีดเส้นเบิกเงินกู้โควิด 30 เม.ย. สศช.ลั่นไม่คืบเจอริบคืน-ตุนงบพยุงเศรษฐกิจ

เลขาฯสภาพัฒน์ขีดเส้น 30 เม.ย. เบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทล่าช้าต้องถูกริบคืน ชี้ต้องตุนเอาไว้ใช้ดูแลเศรษฐกิจ-รับมือผลกระทบโควิด-19 เร่งรวบรวมโครงการเบิกจ่ายอืด ชง ครม.ต้นเดือน พ.ค.นี้ ด้าน สบน.เปิดตัวเลขเบิกจ่ายใช้เงินกู้รวมแล้วกว่า 6.6 แสนล้านบาท เผยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เบิกจ่ายแล้ว 50% ส่วนแผนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังเบิกจ่ายแค่ราว 6 พันล้านบาท จากกรอบ 4.5 หมื่นล้านบาท

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ได้ติดตามการใช้จ่ายเงินกู้ของทุกหน่วยงานที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการไปแล้วกว่า 256 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดเบิกจ่ายล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่เสนอ คณะกรรมการจะดึงวงเงินที่เบิกจ่ายไม่ทันกลับมาไว้เป็นส่วนกลาง เพื่อใช้ในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อไป ซึ่งให้เวลาเบิกจ่ายถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้

หลังจากนั้น คณะกรรมการจะมาพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง คาดว่าช่วงต้นเดือน พ.ค. 2564 จะทราบรายละเอียดว่ามีทั้งสิ้นกี่โครงการ และวงเงินรวมเท่าใด เพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบดึงเงินกลับมาต่อไป

“หลังวันที่ 30 เม.ย.ไป เราจะมาไล่ดูว่าหน่วยงานใดบ้างที่เบิกจ่ายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ทำไว้ ก็จะขอดึงเงินกลับ โดยบางโครงการอาจจะมีข้อจำกัด ซึ่งเราก็จะไปดูส่วนนี้ด้วย เช่น โครงการที่เพิ่งอนุมัติไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 หากจะไปดึงเงินเขากลับมาเลยก็ไม่ได้

ดังนั้น เราจะไปดูโครงการลอตแรก ๆ ที่อนุมัติกันไป ว่ายังเบิกจ่ายช้าอยู่หรือไม่ อย่างโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ผ่านมาเราเห็นสัญญาณเบิกจ่ายล่าช้า ขณะนี้หน่วยงานที่ดูแลก็เข้าไปเร่งการเบิกจ่ายแล้วตอนนี้จึงยังไม่สามารถระบุไว้ว่า มีกี่โครงการที่เบิกจ่ายล่าช้า จะต้องรอความชัดเจนหลังวันที่ 30 เม.ย.” นายดนุชากล่าว

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด โดยจะมีการหารือกันในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบศ.) ต่อไป

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีโครงการเราชนะ และม.33เรารักกัน ที่ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนเหลืออยู่ ซึ่งยังไม่สิ้นสุดโครงการ

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้ สบน.กู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้วรวมกว่า 6.6 แสนล้านบาท จากวงเงินรวมกว่า 7 แสนล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว

โดยในส่วนแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีวงเงินที่อนุมัติแล้ว 138,113 ล้านบาทจากกรอบวงเงิน 355,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 66,334 ล้านบาท คิดเป็น 50%

“ก่อนหน้านี้ที่เคยมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายติดขัดนั้น หน่วยงานของแต่ละโครงการก็พยายามแก้ไขปัญหากันอยู่ ซึ่งส่วนใดที่เบิกจ่ายไม่ได้จริง ๆ ทางคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ก็จะมาดูรายละเอียดอีกครั้งและตัดสินใจว่าจะดึงเงินกลับมาส่วนกลาง หรือยุติโครงการ เป็นต้น


อย่างไรก็ดี เรามีขั้นตอนการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งเมื่อ ครม.อนุมัติโครงการแล้ว หน่วยงานของโครงการนั้น ๆ จะต้องทำความต้องการใช้เงินมาว่าแต่ละเดือนมีความต้องการใช้เท่าไหร่ ส่งมาให้ สบน. เพื่อให้เตรียมการเบิกจ่ายเงินให้ถูก การเบิกจ่ายก็จะเป็นไปตามแผน”นางแพตริเซียกล่าว