“คลัง” หั่นเป้าจีดีพีปี’64 เหลือ 2.3% เร่งสรุปมาตรการเยียวยาโควิด พ.ค.นี้

จีดีพีไทย

คลัง หั่นเป้าจีดีพีปี’64 เหลือ 2.3% เดิมคาด 2.8% หลังโควิดรอบใหม่ระบาด คาดนักท่องเที่ยวหดเหลือ 2 ล้านคน ลดลง 70% ชี้มีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจจากเม็ดเงินพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท-คาดส่งออกโต 11% เร่งสรุปออกมาตรการเยียวยาโควิดภายในเดือนพ.ค.นี้

วันที่ 29 เมษายน 2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ 1.8-2.8%) ปรับตัวลดลงจากประมาณการเมื่อเดือน ม.ค. 64 ที่ 2.8% ต่อปี

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ สศค. จึงปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศลดลงเหลือ 2 ล้านคน จากเดิมคาด 5 ล้านคน

“เราปรับสมมติฐานประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 2 ล้านคน ลดลง 70% ต่อปี เพราะนอกจากสถานการณ์โควิดรอบใหม่แพร่บาด ยังมีข้อกำกัดเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เปิดเฉพาะบางพื้นที่นำร่อง โดยจากส่วนนี้คาดว่าจะมีรายได้เข้ามา 1.7 แสนล้านบาท ลดลง -49% จากเดิมคาด 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ส่งผลกระทบต่อการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้เป็นอย่างมาก”

อย่างไรก็ดี ส่วนที่จะเข้ามาช่วยเหลือเศรษฐกิจได้ เป็นเม็ดเงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งล่าสุด 22 เม.ย. อนุมัติวงเงินไปแล้ว 7.6 แสนล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 85.4% ของวงเงินอนุมัติ ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 2.37 แสนล้านบาท ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดครั้งนี้ ได้มีการปรับประมาณการใช้จ่ายวงเงินดังกล่าวเพิ่มขึ้น และอยู่ระหว่างการเตรียมมาตรการที่จะนำเงินลงระบบเศรษฐกิจ

ภายหลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ให้ประชาชนสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ จะเร่งสรุปมาตรการภายในเดือนพ.ค.นี้ โดยคาดว่า จะเบิกจ่ายเม็ดเงินจากส่วนดังกล่าวได้ 9.5 แสนล้านบาท ซึ่งปี 2563 เบิกจ่ายแล้ว 3.47 แสนล้านบาท ปีนี้ให้เบิกจ่ายเพิ่มขึ้น 6.28 แสนล้านบาท และที่เหลืออีก 5 หมื่นล้านบาท เก็บไว้เหลือสำหรับการเบิกจ่าย ฉะนั้น ในรอบนี้จึงมีการปรับให้มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นมาอีก 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากมาตรการทางการคลังและการเงินที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัว 11% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ 10.5-11.5%)

พร้อมกันนี้ การดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม33เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือได้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.3% และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.8% ขณะที่การบริโภคภาครัฐ 5% และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 10.1%

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.4% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.2% ของ GDP ปรับลดลงจากปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมูลค่าสินค้านำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) การระบาดของโควิดระลอกใหม่ในหลายประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ 2) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3) ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ 4) ความผันผวนของระบบการเงินโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนด้านดิจิทัล และนโยบายการยกระดับปรับทักษะแรงงาน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป