การปรับตัวของ ตลาดตราสารหนี้ไทย ต่อสถานการณ์โควิด

การเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ กราฟ เศรษฐกิจ
คอลัมน์ สถานีลงทุน
ศิรินารถ อมรธรรม
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ภายหลังความกังวลในสถานการณ์โควิด-19 ระลอกปี 2020 เริ่มคลี่คลายลง ภาคเอกชนก็มีการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้มากขึ้น

โดยมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในไตรมาส 1 ปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 20 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนนักลงทุนต่างชาติมียอดการกลับเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยในเดือนมีนาคมที่ค่อนข้างสูงทำให้ในไตรมาสแรกของปี 2564 นักลงทุนต่างชาติมียอดการซื้อสุทธิ 245 ล้านบาท

ตลาดตราสารหนี้ไทยในไตรมาส 1 ปี 2564 มีบรรยากาศการลงทุนที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนออกหุ้นกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มียอดการออกรวม 182,804 ล้านบาท

โดยการออกที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่ม real sectorในขณะที่กลุ่ม bank & finance sector มียอดการออกลดลง เนื่องจากยังมีสภาพคล่องสูงจากฐานเงินฝากที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ มูลค่าการเสนอขายหุ้นกู้ต่อกลุ่มนักลงทุนทั่วไป (PO : public offering) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 3 เท่า และหุ้นกู้ส่วนใหญ่ที่เสนอขายอยู่ในกลุ่มน่าลงทุน (investment grade)

นอกจากนี้ การออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืน (ESG bond) ยังเป็นกระแสที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรก การเคหะแห่งชาติได้ออก social bond มูลค่า 3,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน มีการออกตราสารหนี้ที่อิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงธุรกรรมซื้อคืนระยะข้ามคืน THOR เป็นครั้งแรกจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมมูลค่า 32,500 ล้านบาทจนถึงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่สำคัญของตลาดการเงินของไทย

มูลค่าคงค้างรวมของทั้งตลาด ณ สิ้นไตรมาส 1 ที่ 13.97 ล้านล้านบาท ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.1 จากสิ้นปีที่ผ่านมา จากการออกพันธบัตร ธปท.ที่ลดลง โดยมูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาดรองเฉลี่ยที่ 7.2 หมื่นล้านบาทต่อวัน ลดลงร้อยละ 13 จาก 8.3 หมื่นล้านบาทต่อวันในปี 2563 เนื่องจากการซื้อขายพันธบัตร ธปท.ที่ลดลง

ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ (fund flow) ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิรวม 245 ล้านบาท เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้น แต่ซื้อสุทธิตราสารหนี้ระยะยาว โดยเป็นการกลับเข้าซื้อในเดือนมีนาคม 5,085 ล้านบาท หลังจากที่ใน 2 เดือนแรกของปีมียอดการขายสุทธิสะสมรวม 4,841 ล้านบาท

ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 1 นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทย 846,820 ล้านบาท ลดลงจาก 849,081 ล้านบาท ณ สิ้นปีก่อนหน้า

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในไตรมาสแรกนี้ปรับตัวชันขึ้น (steepen) จากความกังวลเรื่องโควิดในช่วงที่ผ่านมาผ่อนคลายลง และแนวโน้มเชิงบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงไตรมาส 1 รุ่นอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปขยับขึ้น 57-102 bps อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 2 ปีและ 10 ปี ปรับขึ้น 14 bps และ 70 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 0.50 และร้อยละ 1.95 ณ สิ้นไตรมาส 1 จากที่ร้อยละ 0.36 และร้อยละ 1.25 ตามลำดับ

สำหรับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปี 2564 นี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะกลางและยาวจะทรงตัว หรือเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ รอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมาสนับสนุน หลังจากที่ปรับขึ้นมาค่อนข้างเร็วและแรงในช่วงต้นปี ภายหลังเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่นี้

โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยระยะกลางและยาวจะปรับตัวขึ้นสูงต่อไปก็มีจำกัดมากขึ้น จากความเสี่ยงในการฟื้นตัวทางเศรษกิจที่สูงขึ้น

ส่วนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะเคลื่อนไหวในระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะคงอยู่ในระดับเดิมตลอดทั้งปี แต่ก็มีแนวโน้มมากขึ้นที่อาจจะปรับลดลงอีกสักครั้งเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนอกเหนือไปจากนโยบายการคลัง

ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564 bond yield ไทยรุ่น 10 ปี อยู่ที่ 1.82% ปรับลดลง 23 bps จากระดับสูงสุดที่ 2.05% เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ bond yield สหรัฐรุ่นอายุเดียวกันอยู่ที่ 1.65% ปรับลง 9 bps จากระดับสูงสุดที่ 1.74% ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา