ส่องอันดับเครดิตแบงก์ “ทหารไทยธนชาต” แข็งแกร่งขึ้นภายใต้แบรนด์ใหม่

“ฟิทช์ เรทติ้งส์” ประกาศคงอันดับเครดิตสากลของแบงก์ “ทหารไทยธนชาต” หรือ TTB ที่ ‘BBB-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ชี้แบงก์แข็งแกร่งขึ้นหลังควบรวม “ธนชาต” 

วันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ของ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)  หรือ TTB (เดิมคือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)) ที่ ‘BBB-’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ 

นอกจากนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นยังได้รับการคงอันดับที่ ‘AA-(tha)’ และ ‘F1+(tha)’  ตามลำดับ 

โดยฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร (company profile) ที่ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นมาในระดับหนึ่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่ายธุรกิจภายในประเทศ (franchise) ที่แข็งแกร่งขึ้นและการดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เมื่อเดือนธันวาคม 2563 

แต่อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีความต่อเนื่องของความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจมีอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยังคงมีความท้าทายและผลกระทบของการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 

ผลกระทบจากจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสได้ถูกลดทอนลงจากมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ ในขณะที่อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ TTB ยังคงมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวด้อยลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์รวมทั้งรายได้และอัตรากำไร 

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ TTB ยังสามารถรองรับแรงกดดันได้ในระดับหนึ่ง ณ ระดับคะแนนของปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ ฟิทช์ยังคาดว่าโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงจากการชะลอตัวอย่างรุนแรงของภาวะเศรษฐกิจนั้นได้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว กิจกรรมในภาคธุรกิจน่าจะมีการเติบโตดีขึ้นในปี 2564 จากระดับฐานที่ค่อนข้างต่ำในปี 2563 ซึ่งเป็นผลให้ฟิทช์ปรับแนวโน้มของคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับเครดิตของ TTB ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ด้านรายได้และอัตรากำไร และด้านเงินกองทุนและระดับหนี้สิน เป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพ จากเดิม แนวโน้มเป็นลบ 

อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ของ TTB น่าจะยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องในปี 2564-2565 หลังจากที่มาตรการผ่อนปรนเริ่มจะหมดอายุลง ดังนั้นฟิทช์คาดว่าต้นทุนเครดิต (credit costs) น่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าอาจจะปรับตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงปี 2562-2563 ที่มีต้นทุนเครดิตในระดับที่สูง (มากกว่า 50% และ 60% ของกำไรก่อนหักต้นทุนเครดิตในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ)

โดยแนวโน้มของต้นทุนเครดิตจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่ออัตรากำไรของธนาคารในช่วง 2 ปีข้างหน้า ในขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องจากสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และเป้าสินเชื่อของธนาคารที่น่าจะอยู่ในระดับต่ำ แม้หลังการควบรวมกิจการและผสานดำเนินงาน (integration) จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม2564

ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ของ TTB มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น (14.5% ณ สิ้นปี 2563 จาก 13.6% ณ สิ้นปี 2562) ซึ่งช่วยรองรับความเสี่ยงได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การระดมทุนและสภาพคล่อง (funding and liquidity) ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับค่อนข้างดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น 

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่ 102% ณ สิ้นปี 2563 ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม (ปี 2563: 92%) แต่มีปัจจัยชดเชยจากการที่ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์สภาพคล่องที่มีความรุนแรง (หรือ LCR ratio) ในระดับที่ค่อนข้างดีที่ 179% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ TTB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากที่ประมาณ 9% ณ สิ้นปี 2563  แต่ TTB ยังเป็นธนาคารที่มีขนาดเล็กว่าธนาคารขนาดใหญ่ของไทยที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากที่ประมาณ 15%-18% อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ยังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ TTB ในกรณีที่มีความจำเป็น