วิริยะ แก้เกมโควิด เจาะรถป้ายดำซื้อเบี้ยต่ออายุ จับมือ รพ.ชิงเค้กประกันสุขภาพ

วิริยะประกันภัยโชว์ผลดำเนินงาน Q1 กวาดรายได้เบี้ยรถยนต์ 8.6 พันล้านบาท โต 2% ขณะที่ภาพรวมทั้งปีมั่นใจรายได้เบี้ยประกันภัยรถโต 4% เจาะกลุ่มรถป้ายดำซื้อเบี้ยต่ออายุ ชดเชยงานรถป้ายแดงดิ่ง พร้อมเร่งขยายธุรกิจน็อนมอเตอร์ ตั้งเป้าเบี้ยรวมสิ้นปี 4.8 พันล้านบาท โต 18.5% ลุยจับมือโรงพยาบาล “BDMS-เกษมราษฎร์” เปิดตัวสินค้าใหม่ มิ..โกยเบี้ยสุขภาพ 700 ล้านบาท จับมือแสนสิริขยายงานประกันทรัพย์สินก่อสร้าง คาดเก็บเบี้ยไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

นายดลเดช สัจจวีระกุล
นายดลเดช สัจจวีระกุล

วันที่ 11 พ.ค.2564 นายดลเดช สัจจวีระกุล รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทมีรายได้เบี้ยประกันภัยรถยนต์ (มอเตอร์) อยู่ที่ 8,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ยอดขายประกันใหม่จะลดลงตามยอดขายรถป้ายแดง แต่งานต่ออายุผ่านตัวแทนนายหน้ายังมีอัตราเติบโตสูงถึง 80% ขณะเดียวกันบริษัทได้งานประกันใหม่ป้ายดำเข้ามาชดเชยพอสมควรด้วย (รถปีที่ 2 ย้ายค่าย)

“ปีนี้บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้เบี้ยประกันภัยรถยนต์จะอยู่ที่ 3.45 หมื่นล้านบาท เติบโต 4% ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมในแต่ละไตรมาส เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้”

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้เปิดให้ลูกค้าผ่อนชำระเบี้ยประกันรถยนต์ผ่านบัตรเครดิต โดยที่บริษัทสนับสนุนค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ บริษัทพยายามควบคุมอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (loss ratio) ของรถทุกประเภท โดยเฉพาะกลุ่มรถซิตี้คาร์ซึ่งเป็นกลุ่มเคลมสูงถึง 64-65% โดยอาจต้องพิจารณาเบี้ยประกันให้เหมาะสมในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่ใช่จังหวะที่จะปรับขึ้นเบี้ย

“ปีนี้ประเมินว่ายอดขายรถใหม่น่าจะหดตัวราว 10% ดังนั้นเราต้องเน้นงานบริการให้ดีที่สุดเพื่อรักษางานต่ออายุให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง” นายดลเดชกล่าว

นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าวว่า รายได้เบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถ (น็อนมอเตอร์) ของบริษัทในไตรมาสแรกอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ลดลง 4% โดยสาเหตุเกิดจากปีที่แล้วมียอดขายประกันโควิดเข้ามาจำนวนมาก แต่ปีนี้แม้งานต่ออายุประกันโควิดจะมากกว่า 30% แต่ออกกรมธรรม์ให้ลูกค้าไม่ทัน ทำให้งานล่าช้าและยอดเลื่อนไปอยู่ในช่วงเดือน เม.ย.แทน

ส่วนในไตรมาส 2 คาดว่ารายได้เบี้ยประกันน็อนมอเตอร์ น่าจะดีขึ้นจากแรงหนุนของเบี้ยประกันโควิด ซึ่งมียอดขายรวมกว่าหลักล้านกรมธรรม์แล้ว คิดเป็นเบี้ยประกันโควิดกว่า 500 ล้านบาท ถือเป็นพอร์ตใหญ่ของบริษัท นอกเหนือจากเบี้ยประกันโจรกรรมรถจักรยานยนต์ที่มีประมาณ 300 ล้านบาท เบี้ยประกันอัคคีภัยขนาดกลางและขนาดเล็กรวมกับเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินและเบ็ดเตล็ดประมาณ 200 ล้านบาท และเบี้ยประกันสุขภาพอีก 140 ล้านบาท

นางฐวิกาญจน์กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เบี้ยประกันจะอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท เติบโต 18.5% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีแผนจะบุกตลาดประกันสุขภาพผ่านการจับมือพันธมิตรโรงพยาบาลเพิ่ม จากปัจจุบันจับมือร่วมกับบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เจาะลูกค้ากลุ่มบน และล่าสุดเข้าจับมือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เพื่อขยายลูกค้ากลุ่มกลางและล่าง

“ช่วงเดือน มิ.ย.นี้ บริษัทจะเปิดตัวโปรดักต์เฉพาะโรค (กลุ่มโรคร้ายแรง) เช่น โรคมะเร็งและโรคหัวใจ ซึ่งจะเป็นโปรดักต์เอ็กซ์คลูซีฟกับโรงพยาบาลพันธมิตรโฟกัสลูกค้ากลุ่ม mass ถึง hi-end โดยคาดหวังยอดขายประมาณ 20% หรือราว 160 ล้านบาท จากเป้าหมายเบี้ยประกันสุขภาพสิ้นปีอยู่ที่ 800 ล้านบาท (รวมประกันสุขภาพกลุ่ม) หรือคิดเป็นการเติบโต 52% นอกจากนี้จะขยายงานประกันภัยทรัพย์สินและประกันภัยระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งปีนี้จะโฟกัสผ่านความร่วมมือกับ บมจ.แสนสิริ เพื่อสร้างพอร์ตโฟลิโอให้โตมากขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะมีเบี้ยจากแสนสิริเข้ามาไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท” นางฐวิกาญจน์กล่าว