สภาพัฒน์ ชี้ว่างงานพุ่ง 7.6 แสนคน นักศึกษาจบใหม่ 4.9 แสนคนสะเทือน

สภาพัฒน์ เผยไตรมาสแรกของปี’64 ว่างงานพุ่ง 7.6 แสนคน ส่วนคนมีงานทำรวม 37.6 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร เปิด 3 ประเด็นต้องติดตามในปีนี้ ชี้โควิดระบาดกระทบการหางานนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 4.9 แสนคน

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานะการณ์ภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ของปี 2564 การว่างงานเพิ่มขึ้นสูง มีผู้ว่างงานกว่า 7.6 แสนคน คิดเป็น 1.96% โดยเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมา แม้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ในช่วงเดือน มี.ค. แต่ก็มีการกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

สำหรับการว่างงานของแรงงานในระบบ พบว่าผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 มีจำนวน 3.46 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 3.1% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่การระบาดยังไม่รุนแรง แต่ปรับตัวลดลงจากครึ่งปีหลัง โดยเป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ประมาณ 8 หมื่นคน ในเดือน มี.ค.64 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง และลูกจ้างของสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 82,346 คน ลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

ขณะที่ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% จากการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับแรงงานบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่นมาตั้งแต่ปี 2563 ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก รวม 11.07 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรม การจ้างงานปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 0.6% โดยสาขาการผลิตอุตสาหกรรมมีการจ้างงานลดลง 2.2%

อย่างไรก็ตาม มีบางอุตสาหกรรมที่ยังสามารถขยายตัวได้ อาทิ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุปกรณ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และการผลิตเครื่องอุปกรณ์การขนส่งอื่น ๆ สำหรับภาคบริการ การจ้างงานลดลงร้อยละ 0.7 โดยสาขาการขายส่ง/ขายปลีกลดลงร้อยละ 1.0 และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ลดลงร้อยละ 0.4 และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 0.2 ตามปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า

ส่วนชั่วโมงการทำงานรวมอยู่ที่ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 การทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 129.1 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ จากภาพรวมที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ซึ่งจะทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน

นายดนุชา กล่าวว่า ในปี 2564 มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. ผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะ 1.1.แรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) อาจตกงานมากขึ้นหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน โดยธุรกิจ MSMEs ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งทำให้ GDP ของ MSMEs ปรับตัวลดลงสูงถึง 9.1% หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจฯ อาจไม่สามารถประคองตัวต่อไปได้ รวมถึงการเลิกจ้างแรงงาน และโอกาสการกลับมาฟื้นตัวอาจใช้เวลานานมากขึ้น

1.2. แรงงานในภาคการท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่ ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่มีอยู่กว่า 7 ล้านคน โดยหากแรงงานถูกเลิกจ้างจะไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในสาขาเดิมได้ในระยะเวลาอันใกล้ และอาจต้องเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาว่าจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร

และ 1.3. ตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอจะรองรับนักศึกษาจบใหม่ กระทบกับการหางานของนักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 ประมาณ 4.9 แสนคน ขณะที่โครงการจ้างงานกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และแรงงานคืนถิ่นภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ในปี 2563 ซึ่งมีระยะเวลาการจ้างงานประมาณ 12 เดือนกำลังจะสิ้นสุดลง อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานภายใต้โครงการประมาณ 1.4 แสนตำแหน่ง

2. ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง 6 ไตรมาสติดต่อกัน และการว่างงานเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าแรงงานมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ว่างงานจากผลกระทบของ COVID-19 มีแนวโน้มเป็นผู้ว่างงานระยะยาวมากขึ้น และ 3. การเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่จะมีผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทย