จับตากัญชง…พืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย

คอลัมน์ สมาร์ทเอสเอ็มอี
ชัยยศ ตันพิสุทธิ์
ธนาคารกสิกรไทย

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เราคงได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีส่วนประกอบของ กัญชง เปิดตัวเข้าสู่ตลาดมากมาย ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคสร้างความคึกคักแปลกใหม่ให้ตลาดได้พอสมควร เช่น อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าประเภทเครื่องหอม หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น

เนื่องจากภาครัฐได้ปลดล็อกกัญชาและกัญชงจากการเป็นยาเสพติด ทำให้จุดกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิต แต่ในแง่ของการลงทุน อาจต้องมีการพิจารณาในระยะยาวว่า กัญชงจะสามารถกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยได้หรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งโอกาสและอุปสรรคที่ต้องพิจารณาดังนี้ครับ

– กฎเกณฑ์ผ่อนปรนมากกว่ากัญชา กัญชงน่าจะมีศักยภาพในการเป็นพืชเศรษฐกิจมากกว่ากัญชา เนื่องจากกัญชาซึ่งมีสาร THC จึงต้องผลิตเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก แต่กัญชงที่มีสาร CBD ได้รับการผ่อนปรนในการควบคุมมากกว่า ทำให้สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในสินค้าได้หลากหลายกว่า แต่ทั้งนี้ ทั้งคู่ยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ

– เป็นที่ต้องการของตลาด ความต้องการสารสกัด CBD และน้ำมันเมล็ดกัญชง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม อาหารสัตว์ รวมถึงเส้นใยสำหรับเป็นวัตถุดิบในสินค้านวัตกรรม เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น ที่มีแนวโน้มเติบโตทั้งในประเทศและตลาดโลก มีการประเมินว่า ตลาดกัญชงโลกในปี 2563 มีมูลค่าราว 4,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเร่งตัวขึ้นไปแตะ 18,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22.4 ต่อปี

– ปลูกยาก ความสำเร็จของการปลูกกัญชงยังต้องอาศัยความรู้ในการปลูกที่ถูกต้อง การลงทุนโรงเรือน รวมถึงการบริหารจัดการผลผลิตที่เหมาะสม ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องลองผิดลองถูกในระยะเริ่มต้น ส่งผลให้ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและมีศักยภาพในการรองรับการคืนทุนที่อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายปี

– ระยะเวลาคืนทุนนาน ปัจจุบันรายได้จากช่อดอกกัญชงจากการปลูกแบบระบบเปิด ให้ผลผลิตช่อดอกกัญชงแห้งราว 20-40 กิโลกรัมต่อไร่ อาจจะอยู่ที่ราว 0.2-1.0 ล้านบาทต่อไร่ สาเหตุที่ราคารับซื้อสูงเนื่องจากผลผลิตยังมีจำกัด ขณะที่ต้นทุนการปลูกที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 0.3-1.5 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 4-5 ปี สำหรับการปลูกเพื่อเส้นใยกัญชงนั้นแม้ราคารับซื้อจะถูกกว่าช่อดอก แต่ผลผลิตที่ได้จะมากกว่า ทำให้รายได้ ต้นทุน และระยะเวลาคืนทุน ไม่แตกต่างกันมากนัก

อย่างไรก็ดี ในอนาคตเมื่อมีผู้ลงทุนปลูกกัญชงมากขึ้น อุปทานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นั่นอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคาผลผลิตกัญชงมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะหากภาครัฐมีการอนุญาตให้มีการนำเข้าวัตถุดิบหรือสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศได้ ก็จะส่งผลต่อรายได้ของผู้ลงทุนปลูกกัญชง

ดังนั้น ผู้ที่สนใจจะลงทุนปลูกกัญชง คงต้องคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ให้รอบคอบ ซึ่งผมมองว่าการวางแผนเพื่อให้สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลารวดเร็ว และการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ทั้งในประเทศและตลาดโลก จะเป็นกุญแจสำคัญที่สนับสนุนการสร้างรายได้สุทธิให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนครับ