“โทมัส วิลสัน” ซีอีโอคนใหม่ นำทัพ “อลิอันซ์ ประเทศไทย” ฝ่าโควิด

สัมภาษณ์พิเศษ

“โทมัส วิลสัน” หนึ่งในผู้นำทีมความเสี่ยงกลุ่มอลิอันซ์ (Allianz) สำนักงานใหญ่ในประเทศเยอรมนี ที่มีส่วนช่วยให้องค์กรรอดพ้นจากวิกฤตทางการเงินในหลายครั้ง ถูกส่งมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล (AYUD) และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต (AZAY) ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสดีที่ทาง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ถึงการนำประสบการณ์มาขับเคลื่อนธุรกิจของ “อลิอันซ์ ประเทศไทย” ให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปให้ได้

2 ปัจจัยฟื้นเศรษฐกิจไทย

โดย “วิลสัน” กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสถานการณ์โควิดมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก เห็นได้จากตัวเลขอัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ตกลงต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งก่อนที่จะเกิดโควิดระบาดระลอก 3 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ จะตกลงจากระดับ 3.2% เหลือ 3.0%

ทั้งนี้ ตนมองว่าจะมี 2 ปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภาพปัจจุบัน คือ 1.การสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการใช้ชีวิตผ่านการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งเห็นได้ชัดจากประเทศสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลที่มีความคืบหน้าการฉีดวัคซีนไปมาก ช่วยฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับขึ้นมาได้เร็ว

ดังนั้น วัคซีนจะเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศกลับมาฟื้นตัว

และ 2.การช่วยเหลือผ่านมาตรการภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลไทยก็ได้อนุมัติเงินหลักแสนล้าน ภายในระยะเวลา 2 ปี มาช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในช่วงที่กำลังยากลำบาก

กำลังซื้อประกันสุขภาพพุ่ง

“แน่นอนว่ายอดขายประกันโดยรวมในอุตสาหกรรมย่อมได้รับผลกระทบโควิดระลอก 3 อยู่แล้ว เพราะช่องทางขายหลักผ่านตัวแทน ออกไปเจอลูกค้าไม่ได้ และสินค้าประกันออมทรัพย์หดตัวลงไปมาก”

Advertisment

ถามว่ากำลังซื้อของประชาชนจะกลับมาเมื่อไหร่ “วิลสัน” บอกว่า ยังเป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่สิ่งที่ตนเห็นช่วงโควิดระบาดระลอก 3 คือ คนมีความต้องการซื้อสินค้าประกันสุขภาพมากขึ้น

ซึ่งจากการเปิดตัวสินค้าใหม่ “ประกันสุขภาพ ปลดล็อค สบายกระเป๋า” ที่ราคาจับต้องได้และให้ความคุ้มครองถึงหลักล้านบาท ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. พบว่า มียอดขายเข้ามาสูงมาก ส่วนกำลังซื้อของกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ คนอาจจะระมัดระวังการใช้เงินอยู่ จนกว่าจะได้รับการฉีดวัคซีน

Advertisment

ปั้นยอดขาย Nonface-to-Face

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมประกันโชคดีที่มีช่องทางขาย nonface-to-face ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้บังคับใช้มาประมาณ 1 ปีแล้ว

ดังนั้น แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิดระลอก 3 แต่เชื่อมั่นว่าไตรมาส 2 ปีนี้จะดีกว่าไตรมาส 2 ปีที่แล้วแน่นอน

โดยคาดหวังผลงานเบี้ยจะทำได้ใกล้เคียงเป้าหมาย มีสัดส่วนเบี้ยมาจากสินค้าสุขภาพเป็นหลัก โดยคาดหวังในปี 2564 เบี้ยประกันชีวิตรับรวมของบริษัทจะเติบโต 4% ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะขยายผ่านการขายสินค้าประกันสุขภาพและสินค้าออมทรัพย์แบบชนิดมีเงินปันผล (participating) เพื่อช่วยให้คนเก็บออมในระยะยาว

“เป้าหมายที่เราวางไว้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ เรื่องค่าใช้จ่ายอย่างแม่นยำ โดยเฉพาะการระมัดระวังค่าใช้จ่ายการทำงานในออฟฟิศช่วง work from home รวมไปถึงการลงทุนระบบไอที เพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้การขายประกันผ่านช่องทาง nonface-to-face เพราะเป็นช่องทางที่เข้ามาช่วยเราช่วงออกไปเจอลูกค้าไม่ได้”

สร้าง Moment of Truth

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับการจ่ายเคลมในช่วงโควิดระบาดหนัก “วิลสัน” กล่าวว่า ในฐานะบริษัทประกัน ต้องดูแลลูกค้าผ่านการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามปกติอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องห่วงค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาก แต่กลับภูมิใจมากกว่าที่ได้ช่วยสร้างความสบายใจให้กับลูกค้าผู้เอาประกัน

“เมื่อเกิดอะไรขึ้นเราดูแลเขาได้อย่างเต็มที่ ถือเป็น touch point ที่สำคัญมาก เหมือนวินาทีที่มีค่ามากที่สุด (moment of truth) ของลูกค้า ดังนั้น การบริการตรงนี้ต้องดีต่อเนื่องและเร็วที่สุด และต้องอย่าลืมว่าสินค้าที่เราขาย ได้ผ่านการตั้งราคาไว้อย่างเหมาะสมและยุติธรรมกับเราและลูกค้าแล้วด้วย”

กลยุทธ์ 5 ปี บาลานซ์พอร์ต

“วิลสัน” กล่าวอีกว่า ได้วาง “Strategy 2025” หรือกลยุทธ์ 5 ปีข้างหน้า ของอลิอันซ์ไว้แล้ว ผ่าน 4 เสาหลักสำคัญคือ

1.growth สร้างการเติบโตในทุกช่องทางการจัดจำหน่าย

2.product พัฒนาผลิตภัณฑ์มุ่งเน้นรักษาตำแหน่งผู้นำสินค้าประกันสุขภาพ และให้ความสำคัญกับธุรกิจประกันเพื่อการลงทุนและออมทรัพย์ ซึ่งตั้งแต่นี้ไปจะสร้างสมดุลในพอร์ตสินค้าให้มีสัดส่วนเหมาะสม โดยตั้งเป้าพอร์ตสินค้าประกันออมทรัพย์ ประกันชีวิต/สุขภาพ ประกันชีวิตควบการลงทุน (unit-linked) และสินค้าออมทรัพย์ทางเลือก (capital efficient and alternative guarantees) ในปีนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 28%, 58%, 3%, 10% (ตามลำดับ)

3.operating profit สร้างผลกำไรจากการดำเนินงาน โดยเน้นสร้างผลกำไรในระยะยาว ผ่านการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำงาน ทั้งของฝ่ายขาย และระบบหลังบ้าน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและสร้างประสิทธิผลที่มากขึ้น และ 4.people สร้างองค์กรมาตรฐานระดับโลก

จ่อเปิดตัวสินค้าใหม่

“วิลสัน” บอกว่า ในอีก 6 เดือนข้างหน้า บริษัทจะเปิดตัวแบบประกันใหม่ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนในประเทศไทย และเชื่อว่าจะเป็นสินค้าที่ลูกค้าจะรัก

โดยปัจจุบันตนคงไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมากสำหรับธุรกิจอลิอันซ์ประเทศไทย เพราะทุกอย่างที่มีสุดยอดมากอยู่แล้ว ไม่มีอะไรต้องกังวล เป็นบริษัทที่ดี และมีพนักงานที่ทำงานด้วยความสุข

“ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้มาร่วมงานที่อลิอันซ์ ประเทศไทย แต่แน่นอนว่าการเป็นซีอีโอในยุคโควิดมีความท้าทายมากแต่ผมมองว่าก็มีโอกาสอยู่มากมายเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันผมก็ได้ใช้ประสบการณ์จากที่ทำงานสำนักงานใหญ่ที่มิวนิกประเทศเยอรมนี ทั้งเรื่องสินค้าประกัน การบริการลูกค้าที่ดีขึ้น การบริหารการเงิน และระบบไอที เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทยต่อไป” แม่ทัพคนใหม่ของอลิอันซ์ ประเทศไทยกล่าวทิ้งท้าย