มีผลแล้ว! เกณฑ์ตัดชำระหนี้ใหม่ของแบงก์ชาติ ช่วย “ตัดเงินต้น” ได้มากขึ้น

แบงก์ชาติ-BOT-เงินบาท

เกณฑ์ตัดชำระหนี้ใหม่ของแบงก์ชาติ ช่วย “ตัดเงินต้น” ได้มากขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า แนวปฏิบัติสำคัญ ตามที่ ธปท. ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดโอกาสเกิดหนี้เสียในระบบการเงินโดยรวม และลดภาระหนี้ของประชาชน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

โดยประกาศฉบับดังกล่าว จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง จากเดิมแม้ผิดนัดเพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก แต่ตามประกาศฉบับใหม่ให้คิดบนฐาน “เงินต้นที่ผิดนัดชำระจริง” เท่านั้น ไม่รวมเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งจะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดสอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น

2.การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เหมาะสม เดิมผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง ส่วนใหญ่มักจะใช้อัตรา 15% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บางกรณีกำหนดสูงกว่านั้นถึง 18% หรือ 22% แต่ตามประกาศใหม่ผู้ให้บริการทางการเงินจะสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญา บวกได้ไม่เกิน 3%” โดยผู้ให้บริการทางการเงินสามารถพิจารณากำหนดในอัตราที่ต่ำกว่า 3% ได้

และ 3. การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ที่คำนึงถึงผู้บริโภคโดยให้ตัดงวดที่ค้างนานที่สุดก่อน การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้เพื่อให้รู้ว่าเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะนำไปตัดหนี้ส่วนใดก่อนหลัง แนวปฏิบัติเดิมนั้น เงินที่ลูกหนี้จ่ายเข้ามาจะนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมดก่อน แล้วส่วนที่เหลือจึงจะนำไปตัดเงินต้นเรียกว่า “การตัดชำระหนี้แบบแนวตั้ง” โดยทั้ง 3 แนวทาง จะเกิดประโยชน์ต่อลูกหนี้ ดังนี้

  • เพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือนสามารถตัดถึง “เงินต้น” ได้มากขึ้น
  • ช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง
  • ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น
  • ลดการเกิดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)