เปิด 5 เทรนด์สำคัญ กำหนดแนวทางลงทุน 6-12 เดือนข้างหน้า

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิด 5 เทรนด์สำคัญ ที่จะกำหนดแนวทางลงทุน 6-12 เดือนข้างหน้า “โควิดระลอกใหม่-การฟื้นตัวหลังโควิด-การปรับเปลี่ยนนโยบาย-ความท้าทายยุคนิวนอร์มอล-แผลเป็นหลังโควิด”

วันที่ 3 กรกฏาคม 2564 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในงานสัมมนาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) “มองเทรนด์โลก รอ Reopening? กางสูตรวิเคราะห์เทรนด์ เมื่อทั้งโลกรอเปิดเมือง” 5 เทรนด์สำคัญที่กำหนดแนวทางการลงทุนใน 6-12 เดือนข้างหน้าคือ

1.โควิดระลอกใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่กังวลว่าถ้าเกิดโควิดระลอก 4 จะมีระลอก 5 ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นทุกคนอย่าพึ่งตายใจ จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่โควิด-19 ปีนี้หลังจากเราได้วัคซีนโควิดตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆ ปรับตัวลดลงเป็นเวลา 6 สัปดาห์ แต่แล้วโควิดสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) ก็แผลงฤทธิ์กำลังแพร่เชื้อกระจายไปทั่วประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป ฉะนั้นทุกครั้งที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ ย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อสินทรัพย์ต่างๆ รวมไปถึงหุ้นของเราด้วย

ซึ่งล่าสุดเช้านี้ผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยกว่า 70% พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเริ่มพบมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศอังกฤษช่วงก่อนกลับมาล็อกดาวน์ผู้ติดเชื้อโควิดประมาณ 6 หมื่นคนต่อวัน หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนเหลือแค่ 2 พันรายต่อวัน แต่พอผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าพีกกลับไปกว่า 2.5 หมื่นรายต่อวัน ในระยะเวลาแค่ 2-3 สัปดาห์ ขณะที่ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไปมาก อาทิ สหรัฐ, อิสราเอล ก็พบผู้ติดเชื้อโควิดปรับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย นั่นเพราะสายพันธุ์เดลต้าติดเชื้อกันง่าย

“นักลงทุนต้องศึกษาว่าหากเกิดโควิดระลอกใหม่ จะมีนัยที่กระทบกับเซ็กเตอร์การใช้ชีวิตนอกบ้านอะไรบ้าง เช่น กลุ่มท่องเที่ยวที่เป็นความกังวลใจมากที่สุด ซึ่งธุรกิจหลายประเภทสุ่มเสี่ยงต่อการออกมานอกบ้านและติดโรค กลุ่มเหล่านี้ก็จะถูกผลกระทบเป็นประจำ”

2.การฟื้นตัวหลังโควิด ประเมิน 3 เดือนน่าจะเริ่มเห็นผลการฉีดวัคซีนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ปลายปี 64 ถึงจะฉีดได้สัดส่วนจำนวนประชากรมากพอสมควร แต่จะขึ้นอยู่กับไทยได้รับการจัดสรรวัคซีนมาเพียงพอหรือไม่ เพราะฉะนั้นเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวต่างๆ ยังคงไม่น่าจะฟื้นตัว อย่างโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์เปิดไปแล้วแต่นักท่องเที่ยวที่บินเข้ามาแค่พันกว่ารายต่อลำ ซึ่งต่างจากเดิมในอดีตที่บินเข้ามาเป็นหลายแสนคน

แต่ถือเป็นการซ้อมมือ ซึ่งกว่าจะฟื้นก็ต่อเมื่อคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนได้เต็มที่ และรัฐบาลจัดการโควิดซาลงได้ เพื่อให้คนเดินทางออกนอกบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ฉะนั้นอย่างน้อย 3-6 เดือนกว่าจะเริ่มเห็นภาพลักษณะนี้ในกรุงเทพมหานคร

3.การปรับเปลี่ยนนโยบาย ประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐอีก 1 ปีจะกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนโควิด เพราะฉะนั้นการดึงดูดสภาพคล่องกลับจะสอดรับกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และคงจะลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตร(QE Tapering) ซึ่งภายใน 3 เดือนจะไม่แปลกใจถ้าประชุมเฟดประกาศจะขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งภายในปี 2565 เพราะเราตามตัวเศรษฐกิจไม่ทัน

ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นสิ่งที่ตามมาคือเส้นผลตอบแทน (Yield Curve) ปรับขึ้น ฉะนั้นใครที่ลงทุนในกองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) จะเจอเหมือนกับในช่วงปี 2552 ที่ราคาพันธบัตรตกลง
“ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะสร้างความผันผวนให้ตลาดเงินตลาดทุน ฉะนั้นช่วง 2 ปีข้างหน้าเป็นช่วงการลงทุนท่ามกลางความผันผวน”

4.ความท้าทายยุคนิวนอร์มอล หลังจากออกจากอุโมงค์โควิด เรายังต้องเจอความท้าทายในยุควิถีใหม่ อาทิ คู่แข่งที่ปรับตัวเร็วกว่า การย้ายฐานการผลิต และสงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งธุรกิจต้องปรับตัว รวมไปถึงธนาคารพาณิชย์ที่ต้องปรับตัวถึง 3 ช่วงคือ

  • เติมสภาพคล่องเพียงพอให้พ้นจากโควิด
  • รีสตาร์ทธุรกิจ
  • การแข่งขันยุคหลังโควิด

5.แผลเป็นจากโควิด หนี้ภาครัฐ หนี้ครัวเรือน ที่เพิ่มขึ้นมาก รวมไปถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เกิดขึ้น หรือสินทรัพย์สินที่เปลี่ยนมือ โรงแรม ที่ดินดีๆ ที่หายไป ตกไปอยู่ในมือต่างชาติ ซึ่งเราต้องกลับมาสะสางกัน

“ปีนี้คาดว่า GDP ไทยเติบโตได้ระดับ 1-2% ก็ดีแล้ว ท่ามกลางโควิด คนไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจท่องเที่ยวในประเทศเดินไม่ได้ ต่างชาติยังไม่มา ภูเก็ตแซนด์บอกซ์แค่เป็นการซ้อมมือ ไม่มีนัยกับ GDP อย่างแท้จริง เปิดประเทศ 120 วัน โควิดยังระบาด ฉีดวัคซีนไม่เต็มที่

ฉะนั้นสัดส่วนท่องเที่ยวต่างชาติ 10% ของ GDP จากภาคท่องเที่ยวทั้งหมด 15% ของ GDP หรือเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งรายได้ 2 ใน 3 เป็นต่างประเทศ ถ้าเซ็กเตอร์นี้กลับมาไม่ได้ประเทศไทยยากจะฟื้นได้ดีในปี 64 ขณะที่ปี 65 ถ้าเราฉีดวัคซีนได้เพียงพอ จัดการวัคซีนได้ดี นักท่องเที่ยวสามารถกลับมาได้ สักครึ่งหนึ่งสัก 15 ล้านคน

หมายความว่าปีหน้าเราจะได้ GDP บวกจากภาคท่องเที่ยว ที่จะเอาคน 10 ล้านคนกลับจากต่างจังหวัดเข้าสู่จังหวัดท่องเที่ยวอีกรอบ และหมุนตัวเศรษฐกิจ ประเมินน่าจะประมาณ 4% ของ GDP ”ดร.กอบศักดิ์ กล่าว