เงินกู้ 4.5 หมื่นล้าน ตั้งรับวิกฤตโควิด เปิดไส้ในงบฯซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ-ซิโนแวค

ไวรัสโควิด-19 กำลังเป็นวิกฤต กระหน่ำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นทางออกเดียวจากวิกฤตครั้งนี้ แต่ปัญหาการจัดสรรวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดสให้กับประชาชนคนไทย 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ กลับลึกลับ ซับซ้อน

แม้ว่ารัฐบาลจะมีการจัดสรรงบประมาณก้อนพิเศษเพื่อการสาธารณสุขถึง 4.5 หมื่นล้าน แต่ก็ยังเกิดปรากฏการณ์ จัดซื้อวัคซีนล่าช้า และมีคนไข้รอเตียง จนเสียชีวิตคาบ้านรายวัน

ถม 4.5 หมื่นล้าน 49 โครงการ-ซื้อวัคซีน

ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 49 โครงการ วงเงิน 44,763 ล้านบาท ครอบคลุม 5 ด้าน

ด้านที่ 1 เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย ค่าเสี่ยงภัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ 4 โครงการ วงเงิน 6,301 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 4,148 ล้านบาท สัดส่วนสูงสุดร้อยละ 65.82 อาทิ การจ่ายค่าตอบแทนแก่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อเป็นค่าตอบแทน/เสี่ยงภัยในภารกิจเพิ่มเติม ในช่วงเดือนตุลาคม 2563-กันยายน 2564 (12 เดือน)

ด้านที่ 2 เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีน และห้องปฏิบัติการ 19 โครงการ วงเงิน 9,139 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 915 ล้านบาท อาทิ การจัดหาเวชภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ค้นหาเชิงรุก การจัดซื้อ/จัดหาครุภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการรักษา และการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 35 ล้านโดส

ด้านที่ 3 เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกัน และควบคุมโรค 4 โครงการ วงเงิน 17,334 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 11,849 ล้านบาท สำหรับการจ่ายค่าการคัดกรองเชิงรุก การจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด การจ่ายค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาโรคโควิด-19

ด้านที่ 4 เพื่อการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษาและกักตัวผู้มีความเสี่ยง14 โครงการ วงเงิน 10,259 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 435 ล้านบาท เพื่อการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ชุด PPE เครื่องช่วยหายใจ ปรับปรุงห้องความดันลบแก่สถานพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ด้านที่ 5 เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 8 โครงการ วงเงิน 1,727 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 143 ล้านบาท เช่น การพัฒนา/ยกระดับห้องปฏิบัติการ การพัฒนาสมรรถนะด่านควบคุมโรคและช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ การพัฒนาระบบสารสนเทศเชื่อมต่อข้อมูล real time

รวมงบฯไส้ในวัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส

การจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 61 ล้านโดสยัังไม่ชัดเจนหลายจุด โดยเฉพาะวาระการส่งมอบที่ยังต้องเลื่อนเป็นระยะ

ภายใต้แผนงาน-โครงการ “งบฯเงินกู้” ด้านสาธารณสุข มีการอนุมัติจัดซื้อวัคซีน 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 29 ธันวาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแผนการเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีน ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติเพื่อจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดส วงเงิน 1,810 ล้านบาท

ครั้งที่สอง วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ครม.มีมติอนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของกรมควบคุมโรคเพื่อจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 35 ล้านโดส วงเงิน 6,378 ล้านบาท

สำหรับการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับไทยแล้ว 4.7 ล้านโดส ทว่ายัง “ต่ำกว่าเป้าหมาย” ที่กำหนดไว้ใน “แผนการฉีด” เดือนละ 6-10 ล้านโดส

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 อนุมัติจำนวน 117,600 โดส เดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 4.52 ล้านโดส แบ่งออกเป็น ผลิตโดย SK Bioscience (เกาหลีใต้) จำนวน 241,100 โดส และผลิตโดย Siam Bioscience (ไทย) จำนวน 1.8 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม ครม.ยังมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบฯกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อใช้ “ซื้อวัคซีน” ดังนี้

ครั้งแรก มติ ครม.เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 อนุมัติงบฯกลางปี’64 จัดซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส วงเงิน 1,228 ล้านบาท

ครั้งที่สอง มติ ครม.เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 อนุมัติงบฯกลางปี’64 จัดซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 5 แสนโดส วงเงิน 321,604,000 บาท

โดยเฉพาะวัคซีนซิโนแวคที่ “ส่งมอบ” ให้ไทยเป็นกอบเป็นกำ ตามแผนจัดหา-ส่งมอบ จำนวน 19.5 ล้านโดส

ค่าตอบแทน อสม. 16 เดือน 8 พันล้าน

ขณะที่โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. จำนวน 1,039,729 คน และ อสส. จำนวน 10,577 คน รวม 1,050,306 คน อนุมัติไปแล้ว 3 ระยะ

เฟสแรก ระยะเวลา 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2563) วงเงิน 1,575 ล้านบาท เฟสสอง ระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2564) วงเงิน 1,575 ล้านบาท เฟสสาม ระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2564) วงเงิน 1,575 ล้านบาท

ทว่าใน “เฟส 4” (กรกฎาคม-กันยายน 2564 วงเงิน 1,575 ล้านบาท) ครม.เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 มีมติ “ชะลอโครงการ” ไว้ก่อน เนื่องจากได้รับค่าเสี่ยงภัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563-มิถุนายน 2564 รวมระยะเวลา 16 เดือน วงเงินรวม 8,348 ล้านบาท

ทุ่มทุนวิจัยและพัฒนาวัคซีน

นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 2,805.71 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ แบ่งออกเป็น ครม.มีมติเห็นชอบการอุดหนุนงบประมาณ วงเงิน 1,810.68 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 995.03 ล้านบาท

รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการผลิตวัคซีน โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว เป็นทุนสนับสนุนการวิจัยให้แก่หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ประกอบด้วย บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เพื่อการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด DNA วงเงิน 650 ล้านบาท สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ต้นแบบที่พร้อมทดสอบทางคลินิกและการเตรียมพร้อมผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับการระบาดของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ วงเงิน 200 ล้านบาท

บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เพื่อการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศโดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ วงเงิน 160 ล้านบาท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นสถานที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ตามความต้องการของประเทศ

โดยใช้โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ และพัฒนาห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีนรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ขึ้นใช้เองในประเทศ วงเงิน 562 ล้านบาท

องค์การเภสัชกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมการแบ่งบรรจุวัคซีนโควิด-19 ภายในประเทศ วงเงิน 156.8 ล้านบาท บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด เพื่อขยายศักยภาพการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมรองรับการผลิตวัคซีนสำหรับประชาชนไทย วงเงิน 81.88 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติเพื่อเป็นทุนสำหรับการวิจัยพัฒนาวัคซีน วงเงิน 995.03 ล้านบาท ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงเงิน 365 ล้านบาท บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด วงเงิน 596.24 ล้านบาท ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงเงิน 33.79 ล้านบาท

วิกฤตโควิด-19 ถมเงินทั้งใน-นอกงบประมาณไม่เต็ม