แบงก์ชาติไม่ถอย “ลดดอกเบี้ย” ทุบสินเชื่อบุคคล-จำนำทะเบียน

ธนาคารแห่งประเทศไทย แบงก์ชาติ

แบงก์ชาติไม่ถอยลดดอกเบี้ย สั่งแบงก์-น็อนแบงก์รายงานต้นทุนยิบ คาดประกาศลดเพดานดอกเบี้ย 2-3% แบบชั่วคราวปีครึ่ง ลุ้นเริ่ม ก.ย. 64 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี เปิดข้อมูลลดดอกเบี้ย “สินเชื่อบุคคล-จำนำทะเบียน” ช่วยลดภาระประชาชนปีละเกือบ 2 หมื่นล้าน วงในเผยกระตุ้นการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการลดภาระหนี้ของประชาชน และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ย และกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และจำนำทะเบียนรถ

เบื้องต้น ธปท.ได้ให้สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ส่งรายงานข้อมูลต่าง ๆ สินเชื่อแต่ละประเภทย้อนหลัง 2 ปี (ปี 2562-2563) ภายในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ เพื่อนำไปวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการเงินของแต่ละสินเชื่อทั้งระบบ เพื่อนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ย หรือออกกฎกติกาที่เหมาะสมต่อไป

หนุนลดชั่วคราว 1 ปีครึ่ง

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้แบงก์และน็อนแบงก์ทยอยส่งรายงานข้อมูลให้กับ ธปท. ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 2 ก.ค. 2564 ทั้งในเรื่องของต้นทุนทางการเงิน ช่วงอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้าแต่ละประเภทสินเชื่อ และข้อมูลทั้งพอร์ตสินเชื่อ เนื่องจากจะเป็นข้อมูลใช้ประกอบในการตัดสินใจนโยบายของ ธปท.

อย่างไรก็ดี ภายหลังจาก ธปท.ได้พิจารณาข้อมูลต่าง ๆ แล้ว คาดว่าอย่างเร็วที่สุดภายในกลางเดือน ก.ค.นี้ น่าจะมีการประกาศปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยในกรอบ 2-3% ครอบคลุมทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และบัตรเครดิต โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 เป็นต้นไป โดยกรอบระยะเวลาบังคับใช้จะเริ่มตั้งแต่ปี 2564-2565 และจะปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยกลับมาเป็นปกติภายในวันที่ 1 ม.ค. 2566

รายเล็กแข่งเหนื่อย

แหล่งข่าวกล่าวว่า การปรับลดเพดานดอกเบี้ยอาจทำให้เกิดการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในแง่รายใหญ่ยังคงแข่งขันได้ แต่ในทางกลับกัน ธุรกิจรายเล็กอาจจะลำบากมากขึ้น เพราะมีต้นทุนบริหารจัดการที่สูงกว่า อาทิ ต้นทุนการเงิน 4% ต้นทุนพนักงาน 8-12% รวมมีต้นทุน 16% และหากรวมต้นทุนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2% สะท้อนว่ามีต้นทุนรวม 18% ซึ่งจะทำให้ต้องตัดลูกค้าที่ติดเพดานการถูกปฏิเสธ (reject) ออก ซึ่งอาจเห็นบางรายถอดใจในการทำธุรกิจได้

“ตอนนี้แต่ละประเภทสินเชื่อทยอยส่งข้อมูล คาดว่าอย่างเร็วภายในกลางเดือน ก.ค.จะมีประกาศออกมา โดยแนวคิดจะเป็นการปรับลดเพดานเป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยลูกค้า 1-1 ปีครึ่ง เพราะถ้าปรับถาวรก็จะยิ่งทำให้การปล่อยสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าทั้งแบงก์และน็อนแบงก์พร้อมจะปรับตัวโดยการรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ามาร์จิ้นจะลดลง แต่โดยรวมเชื่อว่ายังคงมีกำไรอยู่ แต่หากเทียบกับประมาณการตั้งสำรองหนี้เสียที่เกิดขึ้นก็อาจจะเห็นกำไรลดลง หรือแทบจะขาดทุน”

ลดภาระดอกเบี้ยพีโลนหมื่นล้าน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยรายย่อย จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้มากน้อยแค่ไหนนั้น จากการประเมินพบว่า สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) จะช่วยลดภาระประชาชนมากที่สุด เนื่องจากมียอดสินเชื่อคงค้างก้อนใหญ่ที่สุด โดยในระบบธนาคารพาณิชย์มีอยู่ 208,463 ล้านบาท และในกลุ่มน็อนแบงก์ 236,808 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรณีมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยลง 1% ในระยะเวลา 1 ปี จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยประชาชนลง 4,453 ล้านบาท และกรณีลดลง 3% จะลดภาระประมาณ 13,358 ล้านบาท

ขณะที่ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิต อาจจะลดภาระดอกเบี้ยไม่ได้ทุกคน เนื่องจากมีลูกค้าที่ชำระขั้นต่ำประมาณ 40% ของพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีภาระดอกเบี้ย 16% ซึ่งปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์มีอยู่ประมาณ 246,721 ล้านบาท และน็อนแบงก์ 164,166 ล้านบาท กรณีปรับลดเพดาน 1% จะช่วยลดภาระ 1,644 ล้านบาท และหากลด 3% จะลดภาระดอกเบี้ยประมาณ 4,931 ล้านบาท

สำหรับกรณีจำนำทะเบียนรถ ซึ่งพอร์ตส่วนใหญ่จะอยู่กับน็อนแบงก์ ประมาณ 124,740 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์ 29,242 ล้านบาท หากมีการปรับลด 1% จะช่วยลดภาระได้ 1,540 ล้านบาท และหากลด 3% จะช่วยลดภาระ 4,619 ล้านบาท

จำนำทะเบียนลดได้อีกเยอะ

“ในแง่ต้นทุนแบงก์กับน็อนแบงก์อาจจะแตกต่างกันไม่มาก แต่หากดูประเภทสินเชื่อที่มีช่องว่างปรับลดได้ จะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล และจำนำทะเบียน ซึ่งปัจจุบันคิดดอกเบี้ยในอัตราเฉลี่ย 24-25% กำหนดเพดานดอกเบี้ยสูง เพราะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสปล่อยและไม่ได้คืนสูง แต่ก็ยังมีรูมในการลดลงได้อีก เพราะดอกเบี้ย 24-25% โดดมาก แต่ก็ต้องยอมรับอาจจะต้องทำให้การคัดกรองลูกค้ามีความเข้มข้นขึ้นได้

ส่วนบัตรเครดิตแม้จะมีการปรับลดลงแล้ว 4% แต่ลดได้อีกเพื่อช่วยลดภาระประชาชน เป็นการลดความเดือดร้อนที่ตรงจุด แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องเน้นวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการรวมหนี้ debt consolidation โดยการเอาสินเชื่อไม่มีหลักประกันรวมกับสินเชื่อที่มีหลักประกัน จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยผ่อนลงมาเยอะ จาก 24% เหลือเฉลี่ย 6-7% เท่านั้น” นายนริศกล่าว

ธุรกิจขานรับพร้อมปรับลด

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจาก ธปท. หากส่งสัญญาณการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยลงเฉลี่ย 1-2% บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา บริษัทปล่อยสินเชื่อโดยคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าต่ำกว่าเพดานกำหนด เฉลี่ยสูง 3-5% จึงมองว่าหากมีการปรับลดเพดานจริงก็ไม่กระทบต่อธุรกิจของบริษัท

ด้านนางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ในเครือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้การคิดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” สัดส่วนที่คิดในอัตราเต็มเพดาน 24% มีค่อนข้างน้อย ซึ่งกว่า 90% ของพอร์ต คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 21%

ในเบื้องต้นเข้าใจว่า ธปท.อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย

“ตอนนี้แบงก์ชาติกำลังรับฟังความคิดเห็นอยู่ถึงผลกระทบต่าง ๆ หากปรับลดก็คงไม่เยอะ ขณะที่สถาบันการเงินคงไม่ได้อยากให้ลด เพราะดอกเบี้ยจะสะท้อนความเสี่ยงลูกหนี้แต่ละราย แต่เชื่อว่าทุกคนก็ปรับตัวไปในเรื่องของการคัดกรองที่อาจจะต้องเข้มขึ้น แต่ก็ไม่ต้องการให้ลูกหนี้ออกนอกระบบ ซึ่งจะเห็นว่าดอกเบี้ยนอกระบบปัจจุบันค่อนข้างสูงถึงกว่า 300%”