ตัวเล็ก ผลตอบแทนไม่เล็ก ลงทุนในชิป หัวใจธุรกิจยุคดิจิทัล

ทำไมชิปขาดถึงเกิดวิกฤตโลก
Image by bbAAER from Pixabay
คอลัมน์ สถานีลงทุน
วัทธิกร กิจจาวิจิตร
ธนาคารทิสโก้

 

อุตสาหกรรม semiconductor หรือชิป กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากโลกได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลในปี 2020 และที่ผ่านมาถือว่าการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นตัวเร่งให้แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น และความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภท IOT เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนอย่างเครื่องซักผ้า สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงรถยนต์

โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระบบขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ ที่คาดว่าจะใช้ชิปสูงถึง 10,000 ชิ้น เมื่อเทียบกับรถยนต์ในปัจจุบันที่ใช้ชิปเพียง 3,000 ชิ้น อีกทั้งอุปกรณ์มาตรฐานอย่างสมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณ 5G นั้นยังมีความต้องการชิปเพิ่มขึ้นจากรุ่น 4G ถึง 30%

นอกจากนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์, Cloud Computing, e-Sports และการขุดเหมือง Cryptocurrency ล้วนแล้วแต่ทำให้ความต้องการชิปเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าในปี 2021 จะมีการเติบโตของยอดขายสูงถึง 19.7% แตะระดับ 5.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับอุปทานของการผลิตชิปนั้น ได้เจอปัญหาในเรื่องของการหยุดการผลิตของโรงงานในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ถึงแม้ในปัจจุบันโรงงานผู้ผลิตชิปทั่วโลกกำลังเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตที่ 1 ล้านล้านชิ้นต่อวัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

แม้จะมีการขยายโรงงานแต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการขยายเฉลี่ยสูงถึง 3 ปี ทำให้โลกกำลังเข้าสู่วิกฤตการขาดแคลนชิป และคาดว่าการขาดแคลนจะดำเนินไปจนถึงปี 2023 ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาของชิปเพิ่มสูงขึ้น และทำให้กลุ่มอุตสาหกรรม semiconductor ได้รับประโยชน์

กลุ่มอุตสาหกรรม semiconductor สามารถแบ่งธุรกิจได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.บริษัทผู้ออกแบบชิป (fabless) เช่น Nvidia, AMD และ Apple บริษัทเหล่านี้จะเป็นผู้ออกแบบชิปให้ตรงกับความต้องการของสินค้า เช่น การ์ดจอ GPU หรือชิปสำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตชิปเอง แต่ยังมีผู้ออกแบบบางบริษัทที่ทั้งออกแบบและผลิตชิปตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เช่น Intel, Micron โดยบริษัทเหล่านี้มีกำไรขั้นต้น 40-50%

2.บริษัทรับจ้างผลิตชิป (foundry) สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ บริษัทที่รับจ้างผลิตให้ผู้อื่นโดยไม่มีสินค้าเป็นของตัวเอง เช่น TSMC และบริษัทที่รับจ้างผลิตให้กับผู้อื่นและผลิตให้กับตัวเองอย่าง Samsung ปัจจุบันบริษัททั้งสองครองส่วนแบ่งตลาดของบริษัทผู้ผลิตชิปสูงถึง 70% และบริษัทเหล่านี้มีกำไรขั้นต้นสูงถึง 50%

3.บริษัทที่ขายเครื่องมือสำหรับการผลิตชิป (chip-equipment maker) เช่น ASML บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในเนเธอร์แลนด์ขายเครื่องมือการผลิตชิป lithography แบบ EUV ที่มีความทันสมัยที่สุดในโลก โดยการใช้แสงความเข้มข้นสูงยิงวงจรที่ออกแบบไว้ไปยังแผ่นซิลิกา หรือที่เรียกว่า Wafer

เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจะทำให้สามารถผลิตชิปที่มีขนาดเล็กลง และยิ่งชิปมีขนาดเล็กก็จะยิ่งมีความเร็วในการประมวลผลสูงขึ้นและกินไฟน้อยลง แต่การทำให้ขนาดเล็กลงต้องอาศัยเครื่องมือ เทคโนโลยี ความรู้ความเชี่ยวชาญ

โดยชิปที่มีความทันสมัยที่สุดในปัจจุบันถูกผลิตอยู่ที่โรงงานของ TSMC ในประเทศไต้หวัน ด้วยความบางระดับ 5 NM (นาโนเมตร) ซึ่งเป็นชิปที่ใช้ใน iPhone ไปจนถึงรถยนต์ Tesla ขณะที่ชิปที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น 10NM จะอยู่ในคอมพิวเตอร์ และชิปขนาด 14NM จะอยู่ในรถยนต์ทั่วไป

เมื่อเกิดวิกฤตชิปขาดแคลนและเล็งเห็นถึงความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นมาก TSMC ประกาศลงทุนขยายกำลังการผลิตของโรงงานสำหรับเพิ่มกำลังการผลิตในอีก 3 ปีข้างหน้า และมีแผนเปิดโรงงานในรัฐ Arizona โดยจะเริ่มผลิตชิปขนาด 3 NM จากโรงงานในไต้หวันให้กับ Intel และ Apple

ซึ่งชิป 3NM นั้นใช้พลังงานน้อยลง 30% แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 15% หากเทียบกับชิป 5NM ขณะที่ ปธน.โจ ไบเดน ได้ทุ่มงบฯกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิปในประเทศ

เช่นเดียวกับประเทศจีนที่มีจุดประสงค์ในการยกระดับการผลิตชิปที่ทันสมัยขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาชิปจากต่างประเทศ พร้อมตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 ชิปที่ใช้ในประเทศ 70% จะต้องผลิตภายในประเทศจีน นอกจากสหรัฐและจีนจะเล็งเห็นถึงความสำคัญแล้ว กลุ่มสหภาพยุโรปยังได้อัดฉีดเม็ดเงินวิจัยและพัฒนา และลงทุนสร้างโรงงานสำหรับผลิตชิปที่มีความทันสมัยให้มากขึ้นในอนาคต

หนึ่งในกองทุน ETF ที่มีการลงทุนในบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการขาดแคลนชิป คือ VanEck Vector Semiconductor ETF (SMH) มีการลงทุนในบริษัทประมาณ 25 บริษัทตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบชิปอย่าง Nvidia Intel ผู้ผลิตชิปอย่าง TSMC และบริษัทผู้ขายเครื่องมือสำหรับผลิตชิปอย่าง ASML

ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ สร้างผลกำไรได้สม่ำเสมอ และมีการเติบโตสูง ค่า P/E ratio อยู่เพียงระดับ 34 เท่า ถูกกว่ากลุ่มเทคโนโลยีในภาพรวม สามารถสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี +64% ชนะดัชนี Nasdaq 100 ที่ให้ผลตอบแทน +45%

ท่ามกลางวิกฤตการขาดแคลนชิปทำให้รัฐบาลต่างอัดฉีดงบประมาณวิจัย พัฒนา เร่งลงทุน ประกอบกับโลกกำลังก้าวไปสู่เศรษฐกิจแบบดิจิทัล จึงทำให้ความต้องการชิปเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ถึงแม้การลงทุนในโรงงานจะทำให้ต้นทุนของบริษัทเหล่านี้เพิ่มขึ้น แต่จะถูกชดเชยด้วยราคาของชิปและยอดขายที่ปรับตัวสูงขึ้นไปจนถึงอย่างน้อยปี 2023

ทำให้ความน่าสนใจของการลงทุนในอุตสาหกรรม semiconductor ที่ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ชิ้นส่วนเล็ก ๆ แต่ก็เป็นชิ้นส่วนที่ขาดไม่ได้ในโลกยุคดิจิทัล