สรรพากรจ่อประกาศเว้นภาษี “พักทรัพย์ พักหนี้” ธปท.ชี้หนุนสินเชื่อทะลุหมื่นล้าน

สรรพากร

ธปท.เผยภายในสัปดาห์นี้กรมสรรพากรเตรียมประกาศหลักเกณฑ์ยกเว้นภาษีตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ หนุนโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ยอดสินเชื่อทะลุหลักหมื่นล้านบาท หลังธนาคารรออนุมัติค้างท่อ ล่าสุดอนุมัติเกือบ 1 พันล้านบาท จาก 2 สถาบันการเงิน กลุ่มโรงแรม-โรงพยาบาล-โรงงานแปรรูป ยันโครงการมีระยะเวลายื่นกู้ 2 ปี พักทรัพย์นาน 3-5 ปี ยันโควิด-19 ลากยาวพร้อมขยายต่อมาตรการ

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 เปิดเผยว่า ภายในงานสัมมนา “SMEs ไทยไปต่ออย่างไรด้วยกลไกความข่วยเหลือของ ธปท.-แบงก์รัฐ” ว่า ภายในสัปดาห์นี้ ธปท.คาดว่ากรมสรรพากรน่าจะออกประกาศระเบียบหลักเกณฑ์เรื่องขอยกเว้นภาษีการตีโอนทรัยพ์นี้ ภายหลังจากกระทรวงมหาดไทยยกเว้นค่าตีโอนทรัพย์ 2% และภาษีเงินได้และอากรสแตมป์ ซึ่งมีการประกาศลงราชกิจจาเรียบร้อย

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ทั้งนี้ หากกรมสรรพากรมีการประกาศระเบียบออกมาจะส่งผลให้ยอดปล่อยสินเชื่อในโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” สามารถเดินหน้าได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ได้มีการพูดคุยกับลูกค้าและอนุมัติภายในแล้ว ซึ่งรอกระบวนการทางกฎหมายให้มีการประกาศชัดเจน และสามารถพาลูกค้าไปทำธุรกรรมได้ โดยคาดว่าจะมีธุรกรรมเกิดขึ้นในหลักหมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่มีความรุนแรงและลากยาว ธปท.ยังไม่ได้มีนโยบายขยายระยะเวลามาตรการโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ออกไป เนื่องจากยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือออกแบบมาค่อนข้างยืดหยุ่น และสามารถยืนขอกู้สินเชื่อได้เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 64-9 เม.ย. 66 แม้ว่าวงเงินเพียง 1 แสนล้านบาท แต่ยอมรับว่าเป็นโครงการที่ลูกค้าอาจจะต้องคิดหนักที่จะพักทรัพย์ไว้ รวมถึงสินเชื่อที่ธปท.ให้กับสถาบันการเงินระยะเวลาในสัญญา 3-5 ปี ซึ่งหากครบตามสัญญาและโควิด-19 ยังไม่จบ ธปท.ก็สามารถพิจารณาขยายยื่นเวลาออกไปได้

สำหรับตัวเลขล่าสุด โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ผ่านมาประมาณ 3 เดือนอยู่ที่ 14 ราย วงเงินราว 1,000 ล้านบาท โดยมี 2 สถาบันการเงินยื่นขอความจำนงเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่ทรัพย์จะมีทั้งโรงแรม อาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล สปา และโรงงานแปรรูป เป็นต้น หากกฎหมายทางภาษีมีความชัดเจนขึ้นคาดว่ายอดขอสินเชื่อน่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก

“มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท ถือเป็นชุดมาตรการหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ระลอก 1 ในปี 2563 ผ่านมาตรการเดิมจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างไรก็ดี ในส่วนของโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ยอมรับว่าเป็นกลไกใหม่ ซึ่งต้องทำความเข้าใจระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ และจะต้องสมัครใจของลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการ”