แบงก์ทำใจโควิดยืดเยื้อ ฉุดรายได้ค่าฟีหด เน้นช่วยประคองลูกค้า

ค่าฟีแบงก์ไตรมาส 2 ส่อโตต่ำ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดรายได้ทั้งระบบไม่ถึง 4 หมื่นล้านบาท พิษโควิดระบาดรุนแรงฉุดกิจกรรมเศรษฐกิจ ประเมินรายได้ค่าฟีทั้งปีหดตัว -0.4% ขณะที่ “แบงก์กรุงเทพ-ทิสโก้” ยอมรับปั้นรายได้ค่าฟีลำบาก ชี้ภาวะเช่นนี้ขอเน้นช่วยประคองลูกค้าก่อน

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปีนี้ มีทิศทางติดลบลึกขึ้น จากประมาณการเดิมที่คาดว่าทั้งปีรายได้ค่าธรรมเนียมจะขยายตัวได้ 1% เป็นหดตัว -0-4% โดยน่าจะอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1.74 แสนล้านบาท เนื่องจากแรงขับเคลื่อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไปค่อนข้างมากจากการระบาดของโควิด-19

โดยแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมในไตรมาส 3 และช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะยังค่อนข้างท้าทายต่อเนื่องจากไตรมาส 2 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ และกิจกรรมบางหมวดชะลอตัว เช่น รายได้ในหมวดสินเชื่อและการขายผลิตภัณฑ์และนายหน้าที่มีสัดส่วนประมาณ 27% ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้แรงส่งในหมวดนี้หายไป ขณะที่ค่าธรรมเนียมของบัตรเครดิตที่มีสัดส่วนสูงประมาณ 16% ก็มีอัตราการเติบโตติดลบ ลดลงตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ลดลง จากการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

“เราคาดว่ารายได้ค่าฟีใน Q2/2564 จะออกมาต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสแรกอยู่ที่ราว 4.55 หมื่นล้านบาท เพราะกลุ่มรายได้ จากสินเชื่อ ค่านายหน้าและการจำหน่ายหลักทรัพย์ กิจกรรมเหล่านี้ไม่มาเลย ทำให้แรงส่งหายไป และใน Q3/2564 คงต้องรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 ต่อ

หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้ สินเชื่อกลับมาขยายตัว การใช้จ่ายภายในประเทศดีขึ้น เราน่าจะเริ่มเห็นรายได้ดีขึ้น แต่ก็ยังคงติดลบ หรือทรงตัวอยู่ในโซน 0% ตามที่มองไว้” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรก ธนาคารเน้นโฟกัสให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการเร่งปรับโครงสร้างหนี้และเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าตามแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ไม่ได้โฟกัสเรื่องรายได้จากสินเชื่อและอื่น ๆ มากนัก เพราะถือเป็นช่วงที่ต้องบรรเทาภาระให้ลูกค้า

ส่วนช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าน่าจะเห็นแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมดีขึ้น โดยเฉพาะจากหมวดการลงทุนและประกัน เพราะคนหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการมองหาผลตอบแทนจากการลงทุนในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากการฝากเงิน

“ทิศทางรายได้ค่าฟี ในส่วนของการขายประกันและการลงทุน น่าจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง แต่เป็นการเติบโตที่ไม่ได้หวือหวามากนัก เพราะน้ำหนักเรายังคงให้ความสำคัญดูแลลูกค้าจากผลกระทบโควิด-19 เราเชื่อว่าหากผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ จะเป็นรายได้สำคัญของเราในระยะยาว” นายทวีลาภกล่าว

นายเมธา ปิงสุทธิวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในปีนี้คงขยายตัวได้ยากขึ้น เนื่องจากทุกธนาคารให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้า ทำให้ปล่อยสินเชื่อใหม่น้อยลง รายได้จากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ปรับลดลงค่อนข้างมากจากเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท. ที่มีการกำหนดออกมาใหม่ เช่น ดอกเบี้ยปรับ ค่าติดตามทวงถามที่ไม่ได้มีการเรียกเก็บหรืออื่น ๆ ที่มีการผ่อนปรนให้ลูกค้า เป็นต้น

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุน หรือรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกิดจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) แม้จะยังคงทำได้ดี แต่ไม่สามารถชดเชยรายได้หลักที่มาจากพอร์ตธุรกิจเช่าซื้อได้ รวมถึงช่วงนี้ตลาดการลงทุนไม่เอื้อต่อการทำรายได้ด้วย

“ค่าฟีและดอกเบี้ยตอนนี้ไม่มีทางเพิ่มขึ้น และไม่มีทางเท่าเดิม มีแต่ลดลง เพราะการปล่อยสินเชื่อยากขึ้น ธุรกรรมเช่าซื้อน้อยลง กิจกรรมการลงทุนก็ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ทั้งหมดได้ ดังนั้น ในช่วงนี้ต้องประคองตัว บริหารหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ไปก่อน รอให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว เราจึงจะเห็นรายได้กลับมาฟื้นตัว” นายเมธากล่าว