ธปท. ลุยแก้หนี้ประชาชน 3.2 ล้านล้าน จ่อดึง “สหกรณ์” เข้าเครดิตบูโรฯ 

ธปท. เดินหน้าแก้หนี้ภาคประชาชน-ธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ตรงจุดและยั่งยืน เผยหลังเกิดโควิด-19 มีลูกค้าเข้าโครงการช่วยเหลือกว่า 3.2 ล้านล้านบาท หรือ 4.9 ล้านบัญชี เดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลดึงสหกรณ์เข้าเครดิตบูโร พร้อมเพิ่มช่องทางการกู้ยืมใหม่-ให้ความรู้ทางการเงิน ระบุเร่งประสานหนี้เกษตรกรปี 65 

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าภารกิจการแก้หนี้ภาคประชาชน จะเห็นว่าธปท.ได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง โดยทำตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งต้องยอมรับว่าภายหลังจากเกิดสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศประสบปัญหาภาระหนี้หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งไตรมาสที่ 1 ตัวเลขอยู่ที่ 90.5% ของจีดีพี ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ประชาชนที่หดตัวลงอย่างมาก และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับถภาระหนี้มีความซับซ้อน เนื่องจาก 1 ใน 4 เป็นหนี้นอกระบบ และประมาณ 3 ใน 4 หรือประมาณ 72% เป็นหนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) 


ทั้งนี้ หากดูการแก้ปัญหาหนี้ของภาคประชาชน จะพบว่า ธปท.ได้เริ่มแก้ปัญหาลูกหนี้ตั้งแต่ลูกหนี้ปกติ เริ่มมีปัญหา ลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และอยู่ในขั้นตอนฟ้องร้อง โดยการแก้ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การใช้มาตรการเร่งด่วนลดภาระหนี้ เช่น การปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยในเดือนส.ค.63 ลงเฉลี่ย 2-4% เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตจาก 18% เหลือ 16% สินเชื่อบุคคลจาก 28% เหลือ 25% และจำนำทะเบียนจาก 28% เหลือ 24% และออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 1 แบบปูพรมในช่วงเดือนเม.ย.63 และหลังสถานการณ์ล็อกดาวน์ผ่อนคลายได้ออกมาตรการชุดที่ 2 ต่อเนื่อง รวมถึงการออกประกาศการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้แนวนอนที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว 

ล่าสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ในช่วงเดือนพ.ค.64 สำหรับลูกหนี้ทุกประเภท และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้การชำระหนี้สอดคล้องกับลูกหนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมามีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวมทั้งหมด ทั้งลูกหนี้รายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจรายใหญ่ โดย ณ เดือนพ.ค.64 มีลูกค้าเข้ามาตรการรวมทั้งสิ้น 4.9 ล้านบัญชี คิดเป็น 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ลูกค้ารายย่อย 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนบัญชี 4.4 ล้านบัญชี แบ่งเป็น สินเชื่อบัตรเครดิต-ส่วนบุคคล 8 แสนล้านบาท สินเชื่อที่อยู่อาศัย 6 แสนล้านบาท และเช่าซื้อ 2 แสนล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอี 5 แสนราย มูลค่า 1 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรายใหญ่ 2,060 ราย มูลค่า 6 แสนล้านบาท

ขณะที่ภารกิจการแก้หนี้กลางน้ำ จะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ลูกหนี้ได้เจรจากับเจ้าหนี้ได้แก้หนี้ได้สะดวกขึ้น เช่น 1.โครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งปัจจุบัน ณ เดือนมิ.ย.64 มีลูกค้าเข้าโครงการขอความช่วยเหลือจำนวน 1.9 หมื่นคน เฉลี่ย 1 รายมี 3 บัญชี คิดเป็น 6.05 หมื่นบัญชี โดยสามารถช่วยเหลือได้กว่า 5,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราความสำเร็จกว่า 90% และ 2.ทางด่วนแก้หนี้ มีตัวเลขเข้ามาติดต่อค่อนข้างสูงในช่วงโควิด-19 กว่า 2 แสนราย คิดเป็นอัตราการช่วยเหลือสำเร็จกว่า 70% 

และ 3.มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ณ เดือยพ.ค.64 พบว่า มีลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคลเข้าโครงการกว่า 6.85 แสนบัญชี เฉลี่ย 1 ราย มี 2 บัญชี พบว่าได้รับความช่วยเหลือ 1.93 แสนบัญชี และเข้าเงื่อนไขกว่า 2.6 แสนบัญชี คิดเป็นอัตราการช่วยเหลือสำเร็จกว่า 72.15% ขณะที่มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ พบว่าล่าสุด ณ ก.ค.64 มีผู้ลงทะเบียนกว่า 2.2 หมื่นบัญชี เพิ่มจากเดือนมิ.ย.ที่เข้ามาประมาณ 1.7 หมื่นบัญชี และเข้าเงื่อนไขประมาณกว่า 6,000 บัญชี โดยดำเนินการแล้วประมาณ 9,000 บัญชี และอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 78% ส่วนการแก้ปัญหาภาระหนี้ปลายน้ำ คือ การให้ความรู้ทางการเงิน โดยในเดือนส.ค.นี้จะทำผ่านโครงการหมอหนี้ เพื่อการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนระยะยาว 

“การพักชำระหนี้ 2 เดือนในพื้นที่โซนแดง ถือเป็นมาตรการขั้นต่ำ และเป็นการ Stop Gap เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วน แต่ในระยะยาว คือ เน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับลูกค้า เช่น การแปลงสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว การเจรจาเจ้าหนี้ให้ลดดอกเบี้ยหรือแฮร์คัตหนี้ เน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง แม้ว่ามาตรการจะหมดอายุสิ้นปี 64 แต่เชื่อว่าแบงก์จะยังคงทำต่อเนื่อง”

นางธัญญนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท.คงไม่ได้มีมาตรการเพียงเท่านี้ โดยมีการคุยกันภายในเพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนในอนาคต จึงจะดำเนินการต่อเนื่อง เช่น 1.การจัดทำข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน แม้ว่าเดิมข้อมูลจะมีอยู่แล้วก็ตาม แต่เป็นข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วนและไม่มีในบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ซึ่งจะมีการดึงเจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้อยู่ระบบเข้ามาในระบบ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น 2.การส่งเสริมให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ไม่หนุนให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัว

และ 3.ส่งเสริมให้เกิดช่องทางการให้กูยืมเงินใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือ P2P Lending เป็นต้น และ 4.การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนระยะยาว เน้นการปลูกฝั่งอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางที่ธปท.พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคต 

“การแก้ปัญหาหนี้สหกรณ์ สอดคล้องกับแนวนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี แต่ธปท.จะทำคนเดียวไม่ได้ เพราะมีหลายหน่วยงานที่กำกับดูแล และหน่วยงานกำกับอยู่นอกเหนือการกำกับของเรา เช่น สหกรณ์ครู ข้าราขการ ตำรวจ หรือแม้แต่หนี้การศึกษา หรือ กยศ.เราได้ดำเนินการประสานไปแล้ว หรือแม้แต่หนี้เกษตรกร ซึ่งทำได้ค่อนข้างยาก เพราะติดหลักเกณฑ์พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่กำกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และลูกค้าแตกต่างจากลูกค้าธนาคาร จึงเป็นเรื่องที่ธปท.ต้องคอยมอนิเตอร์และน่าจะเริ่มทำในปี 65 เพราะเป็นปัญหาใหญ่และต้องดูหลายปัจจัย”