เฮงลิสซิ่งฯรุกธุรกิจเต็มสูบ นำร่องภาคอีสาน หวังโตพอร์ต 1.3 หมื่นล้าน

รถยนต์

บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล เตรียมรุกธุรกิจเช่าซื้อ-จำนำทะเบียน-นาโนไฟแนนซ์เต็มสูบตั้งเป้าปี’66 พอร์ตสินเชื่อแตะ 1.3 หมื่นล้านบาท เล็งขยายสาขาเพิ่มเป็น 830 สาขา เจาะภาคอีสาน-ภาคใต้ หลังเป็นผู้นำสินเชื่อภาคเหนือสัดส่วนสินเชื่อ 42% ลั่นโควิด-19 เร่งช่วยเหลือลูกค้าเต็มที่ พร้อมบริหารหนี้เสียอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 3.68%

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าภายใน 2 ปี ขยายธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันในภูมิภาคต่าง ๆ จากปัจจุบันเป็นผู้นำสินเชื่อรายใหญ่ในภาคเหนือสัดส่วน 42% โดยคาดว่าพอร์ตสินเชื่อในปี 2565-2566 จะมีอัตราการเติบโต 25% ต่อปี และมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2563 พอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 7,700 ล้านบาท โดยในปีนี้ตั้งเป้าเติบโตอยู่ที่ 8%

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอื่นนอกจากภาคเหนือ โดยตั้งเป้าขยายสาขาภายในปี 2566 อยู่ที่จำนวน 830 แห่ง เพื่อขยายให้ครอบคลุมลูกค้ารายใหม่มากขึ้น โดยเบื้องต้นสาขามากกว่าครึ่งจะเน้นขยายไปยังภาคอีสาน และภาคใต้และภาคตะวันออก จากปัจจุบันสาขากระจายอยู่ใน 51 จังหวัด

สุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์

สำหรับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อประมาณ 95% จะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถและจำนำทะเบียนที่มีสัดส่วนสูงถึง 80% และที่เหลือจะเป็นสินเชื่อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่สัดส่วนที่เหลือ 5% จะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เป็นต้น และธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิต โดยปัจจุบันบริษัทมีความเชี่ยวชาญในรถทุกประเภทและมีพันธมิตรเป็นเต็นท์รถมือสองและนายหน้ากว่า 5,100 ราย

โดยในด้านคุณภาพสินเชื่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังสามารถบริหารจัดการได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบริษัทมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ รายได้ และหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกค้าเป็นหลัก ส่งผลให้หนี้เอ็นพีแอลในสิ้นปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 3.68%

อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 บริษัทได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น การระบาดระลอกแรก โดยการจ่ายแค่ดอกเบี้ยและลดค่างวดเพียง 65% ของภาระรายเดือน หรือการขยายเวลาชำระหนี้ 3-6 เดือน และล่าสุดได้พักชำระหนี้ให้ลูกค้า 2 เดือน โดยภาพรวมมีลูกค้าที่เข้าโครงการขอรับความช่วยเหลือทั้งหมด 30% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีลูกค้าทยอยกลับมาชำระปกติหรือปิดบัญชี ทำให้สัดส่วนลูกค้าที่อยู่ในความช่วยเหลือเพียง 13% เท่านั้น

“เราต้องการตอบโจทย์ลูกค้าท้องถิ่น โดยใช้วิธีการรู้จักลูกค้า โดยเรายังเชื่อว่ายังมีดีมานด์ความต้องการสินเชื่ออีกมาก ทั้งคนที่เข้าไม่ถึงและคนที่เข้าถึงระบบแล้ว อย่างไรก็ดี เป้าหมายระยะยาวเราจะด7งเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาการเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาและพูดคุยกับธปท.ในการทำสินเชื่อ digital Lending รวมถึงการพัฒนาคนและระบบควบคู่กันไป”

วิชัย ศุภสาธิตกุล

นายวิชัย ศุภสาธิตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสินเชื่อรายใหญ่ในภาคเหนือภายใต้แบรนด์ “เฮงลิสซิ่ง” ที่เกิดขึ้นจากการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อรายใหญ่ในภาคเหนือ 4 กลุ่ม

ได้แก่ กลุ่มทวีเฮง กลุ่มพัฒนสิน กลุ่มมิตรเอื้ออารีย์ และกลุ่มสินปราณี ซึ่งมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจให้บริการสินเชื่อที่มีหลักประกันที่แตกต่างกันมากกว่า 20 ปี โดยการรวมตัวกัน จึงสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันทั้งด้านฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในภาคเหนือ ความสามารถ และประสบการณ์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัทนำเสนอผลิตภัณฑ์ตรงใจลูกค้า และเติบโตอย่างยั่งยืน

“เรามีทีมผู้บริหาร พนักงานและบุคลากรคนท้องถิ่นที่เข้าใจลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการสินเชื่อเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพหรือใช้เป็นทุนหมุนเวียน โดยทีมพนักงานจะลงพื้นที่เข้าพูดคุยให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ด้วยความเป็นมิตร จริงใจ โปร่งใส เป็นธรรม เพื่อสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อของเฮงลิสซิ่งมาโดยตลอด”