นักลงทุนกังวลสถานการณ์ตึงเครียดในอัฟกานิสถาน หนุนดอลลาร์แข็งค่า

กังวลสถานการณ์ตึงเครียดในอัฟกานิสถาน นักลงทุนซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนดอลลาร์แข็งค่า ผู้ว่า ธปท.ชี้การรับมือกับวิกฤตโควิดที่รุนแรงและยาวนานต้องใช้มาตรการด้านการคลังเข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/8) ที่ระดับ 33.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/8) ที่ระดับ 33.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กรายงานเมื่อคืนนี้ (16/8) ว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ลดลง 24.7 จุด สู่ระดับ 18.3 ในเดือนสิงหาคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 29.0 หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับ 43.0 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในอัฟกานิสถาน หลังจากกลุ่มตาลิบันเข้ายึดครองทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงคาบูล ขณะที่ทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าการตัดสินใจถอนทหารของสหรัฐเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานล่มสลายอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 สิงหาคม ทั้งนี้คาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมดังกล่าว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวานนี้ (16/8) ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงานผู้ว่า ธปท.พบสื่อมวลชน โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในการรับมือสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ มาตรการหรือแนวทางแก้ปัญหาที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพนวิกฤตในครั้งนี้ได้นั้น เห็นว่ามาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทและความจำเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย

โดยจะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับมาตรการการคลังที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมีตัวคูณ (mutiplier) สูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-pay) อาทิ มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ

พร้อมกันนี้ยังมองว่าขนาดของรายได้ที่จะหายไปประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 63-65 จากผลกระทบของวิกฤตโควิดในประเทศนั้น เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลัง เพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชน และ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด

ซึ่งการกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.26-33.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (17/8) ที่ระดับ 1.1776/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/8) ที่ระดับ 1.1786/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ผนวกกับความกังวลของนักลงทุนเรื่องยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นในหลายพื้นที่

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1764-1.1780 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1767/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/8) ที่ระดับ 109.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/7) ที่ระดับ 109.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนได้รับแรงซื้อในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.16-109.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐานของสหรัฐ ประจำเดือนกรกฎาคม (17/8), ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐ ประจำเดือนกรกฎาคม (17/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหภาพยุโรป ประจำเดือนกรกฎาคม (18/8), รายงานจำนวนใบอนุญาตก่อสร้างของสหรัฐประจำเดือนกรกฎาคม (18/8),

จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ ประจำเดือนสิงหาคม (19/8), ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐจากธนาคารกลางรัฐฟิลเดลเฟีย ประจำเดือนสิงหาคม (19/8), ดัชนียอดขายปีกของสหราชอาณาจักร ประจำเดือนกรกฎาคม (20/8) และดัชนีผู้ผลิตของเยอรมนี ประจำเดือนกรกฎาคม (20/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 1.05/1.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.00/3.95 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ