อัฟกานิสถาน: อนาคตเศรษฐกิจใต้เงื้อมมือตาลีบัน

อนาคตเศรษฐกิจอัฟกานิสถาน
REUTERS TV/via REUTERS

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งของแร่ แต่ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศน้อยมาก เนื่องจากปัญหาความมั่นคงและการทุจริต มีคำถามที่น่าสนใจหลังการยึดครองประเทศว่า กลุ่มตาลีบันจะมีความสามารถในการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุน มากกว่ารัฐบาลชุดก่อน ๆ หรือไม่ ? 

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 บีบีซีรายงานว่า หลายเดือนก่อนหน้าการยึดอำนาจของกลุ่มตาลีบัน ธนาคารโลกมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานนั้นน่าหนักใจ เนื่องจากถูกหล่อหลอมจากความเปราะบางและการพึ่งพาความช่วยเหลือ

โอกาสทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ดูจะไม่มั่นคงมากขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่การช่วยเหลือทางการเงินในอนาคต อยู่ภายใต้เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอน

อัฟกานิสถานมีทรัพยากรแร่มากมาย แต่สถานการณ์ทางการเมืองกลับขัดขวางการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้

การพึ่งพาความช่วยเหลือของอัฟกานิสถาน เมื่อปี 2562 ตัวเลขของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า อัฟกานิสถานได้รับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาเท่ากับ 22% ของรายได้รวมประชาชาติ (ซึ่งไม่เหมือนกับจีดีพี แต่ก็ใกล้เคียงกัน)

นี่ถือเป็นตัวเลขที่สูง แต่ก็ลดลงอย่างมากจาก 49% ที่ธนาคารโลกเคยรายงานไว้เมื่อ 10 ปีก่อน

ตอนนี้ความช่วยเหลือเหล่านั้นอยู่ภายใต้เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอน ขณะที่ นายเฮโกะ มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีดีเอฟเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “เราจะไม่ให้เงินอีกแม้แต่เหรียญเดียว หากตาลีบันเข้ายึดครองประเทศ และบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์

ส่วนผู้ให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ยังคงเฝ้าจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทุจริตคอรัปชั่น

ความเปราะบางที่ธนาคารโลกอ้างถึงนั้น สะท้อนผ่านระดับการใช้จ่ายด้านความมั่นคงที่สูงมาก ในช่วงก่อนการยึดครองของตาลีบัน โดยค่าใช้จ่ายนี้เท่ากับ 29% ของจีดีพี ขณะที่ประเทศรายได้ต่ำอื่น ๆ โดยเฉลี่ยใช้เพียง 3%

ความมั่นคงและปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับการทุจริต อยู่เบื้องหลังปัญหาเรื้อรังอีกประการหนึ่งในอัฟกานิสถาน นั่นคือการลงทุนจากธุรกิจต่างประเทศที่อ่อนแอมาก

ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีประกาศเกี่ยวกับการลงทุน “กรีนฟีลด์” ใหม่ ซึ่งหมายถึงธุรกิจต่างประเทศที่ไปก่อตั้งในประเทศโดยเริ่มต้นจากศูนย์ โดยนับตั้งแต่ปี 2557 มีเพียง 4 บริษัทเท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 ประเทศในเอเชียใต้ ซึ่งมีประชากรน้อยกว่าอัฟกานิสถานพบว่า เนปาลมีการลงทุนลักษณะนี้มากกว่า 10 เท่า ส่วนศรีลังกามีมากกว่า 50 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกัน

ธนาคารโลกชี้ด้วยว่า ภาคเอกชนของอัฟกานิสถานนั้นมีจำนวนจำกัด การจ้างงานกระจุกตัวอยู่ในภาคการเกษตรที่ให้ผลผลิตต่ำ โดย 60% ของครัวเรือนมีรายได้บางส่วนจากการเกษตร

อัฟกานิสถานยังเต็มไปด้วยธุรกิจผิดกฎหมาย มีการทำเหมืองผิดกฎหมาย รวมถึงการผลิตฝิ่น และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การลักลอบนำเข้า ขณะที่การค้ายาเสพติดเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับกลุ่มตาลีบัน

ความมั่งคั่งของแร่

จากทั้งหมดที่กล่าวมา เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานเติบโตขึ้น ตั้งแต่การบุกรุกของสหรัฐฯ เมื่อปี 2544

ตัวเลขจากอัฟกานิสถานอาจไม่น่าเชื่อถือ แต่ตัวเลขจากธนาคารโลกชี้ว่า มีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 9% ในช่วง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2546

หลังจากนั้นก็ชะลอตัวลง (ซึ่งอาจสะท้อนถึงระดับความช่วยเหลือที่น้อยลง) เป็นอัตราเฉลี่ย 2.5% ระหว่างปี 2558-2563

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ซึ่งหากมีการรักษาความมั่นคงที่ดีและการทุจริตที่น้อยลง จะมีความน่าสนใจสำหรับธุรกิจระหว่างประเทศ

อัฟกานิสถานมีแร่หลายประเภทในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นทองแดง, โคบอลต์, ถ่านหิน และแร่เหล็ก อีกทั้งยังมีน้ำมันและก๊าซ รวมถึงอัญมณีล้ำค่าอีกด้วย

หนึ่งในแร่ที่มีศักยภาพโดดเด่นคือลิเธียม ซึ่งเป็นโลหะที่ใช้ในแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความสำคัญเพิ่มยิ่งขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนรูปแบบสู่การขนส่งลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

ย้อนกลับไปในปี 2553 นายพลระดับสูงของสหรัฐฯให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทม์สว่า ศักยภาพของแร่ในอัฟกานิสถานนั้น “น่าทึ่ง” ทั้งยังบอกด้วยว่าอัฟกานิสถานมีแร่จำนวนมาก

รายงานดังกล่าวเผยด้วยว่า บันทึกภายในของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯระบุว่า อัฟกานิสถานอาจกลายเป็นแหล่งลิเธียมของซาอุดิอาระเบีย

ทว่าศักยภาพที่ไม่อาจปฏิเสธได้นี้ ไม่มีที่ไหนเลยที่ไม่ถูกหาผลประโยชน์ และชาวอัฟกันที่ได้ประโยชน์มีให้เห็นน้อยมาก หากจะมีใครที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้

มหาอำนาจต่างประเทศ

มีรายงานหลายฉบับที่ระบุว่า จีนกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม และดูเหมือนว่าจีนจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มตาลีบันมากกว่ามหาอำนาจตะวันตก ดังนั้นจีนจึงอาจได้เปรียบหลายข้อ หากระบอบการปกครองใหม่ยังกุมอำนาจไว้

มีบริษัทจีนที่ชนะสัญญาเพื่อพัฒนาการดำเนินงานด้านทองแดงและน้ำมัน แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย

เป็นที่คาดการณ์กันว่าจีนจะสนใจในโอกาสต่าง ๆ ที่มีผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำ และทั้งสองประเทศก็มีพรมแดนติดต่อกัน

แต่ทุกหน่วยงานของจีน ไม่ว่าจะทางการหรือธุรกิจ ย่อมต้องการความมั่นใจเรื่องผลสำเร็จ พวกเขาจะไม่เต็มใจดำเนินการ จนกว่าจะรู้สึกว่าปัญหาด้านความมั่นคงและคอรัปชั่นจะถูกจำกัดให้เพียงพอต่อการที่พวกเขาจะสามารถสกัดความคุ้มค่าจากสินค้าอุตสาหกรรม

คำถามสำคัญสำหรับนักลงทุนหัวดื้อ ไม่ว่าจากจีนหรือประเทศอื่น ๆ คือ กลุ่มตาลีบันจะมีความสามารถมากกว่ารัฐบาลอัฟกันชุดก่อน ๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่พวกเขาต้องการหรือไม่ ?

ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังมีความไม่แน่นอนอีกมากเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงิน ผู้คนจำนวนมากพยายามถอนเงินออกจากธนาคาร

สื่ออิสลามของชาวอัฟกันในปากีสถานรายงานว่า โฆษกตาลีบันให้คำรับรองแก่เจ้าของธนาคาร ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตรา ผู้ประกอบการ และเจ้าของร้าน ว่า ชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาจะได้รับการคุ้มครอง

แต่ยังมีคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยทางกายภาพของผู้ประกอบการทางการเงินที่กำลังตื่นตกใจ พวกเขาจำเป็นต้องมีความมั่นใจว่าระบบการเงินของอัฟกานิสถานจะยังเดินเครื่องต่อ ทั้งยังต้องการให้ลูกค้ารู้สึกว่าเงินของพวกเขาจะปลอดภัย ซึ่งความรู้สึกนี้จะไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน