ธปท.ปรับเกณฑ์กำกับเงินกองทุนมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 65  

ธปท

ธปท.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนโดยทางการ Pillar 2 มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 65 ระบุเพิ่มความเสี่ยงด้านไอที-กฎหมายและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์-ปัจจัย ESG ยันปรับเกณฑ์ปกติไม่เกี่ยวกับโควิด-19 ลั่นแบงก์ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินกองทุน

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนโดยทางการในส่วนของ Pillar 2 เพิ่มเติม เพื่อให้สถาบันการเงินมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี และมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงสำคัญทั้งหมดที่มีอยู่ได้ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต เพื่อความยั่งยืนของระบบสถาบันการเงินในระยะยาว โดยเกณฑ์การกำกับเพิ่มเติมจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป 

สำหรับหลักเกณฑ์ Pillar 2 ที่ได้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ให้มีความยืดหยุ่นและครอบคลุมความเสี่ยงใหม่ ๆ ได้ดียิ่งขึ้น หลักการสำคัญของประกาศ Pillar 2 คือ การให้สถาบันการเงินบริหารจัดการความเสี่ยงที่นอกเหนือจาก Pillar 1 ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมั่นใจว่าจะมีเงินกองทุนรองรับความเสี่ยงจากการทำธุรกิจได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อย่างไรก็ตาม จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเทคโนโลยีมีพัฒนาการที่รวดเร็ว สถาบันการเงินจึงอาจเผชิญความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ธปท.จึงปรับหลักเกณฑ์ Pillar 2 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและความเพียงพอของเงินกองทุนได้คล่องตัว มีความยืดหยุ่นและเป็นไปในเชิงหลักการ (Principle-based) มากขึ้น

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ Pillar 2 เดิมจะครอบคลุมความเสี่ยงด้วยกัน 5 ด้าน ได้แก่ 1.Credit Concentration Risk ความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อรายใดรายหนึ่งที่สูงกว่าพอร์ต 2.Interest Rate Risk in Banking Book ความเสี่ยงจากการปรับขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด 3.Liquidity Risk ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง 4.Reputation Risk และ 5.Strategic risk 

โดยเกณฑ์ใหม่ที่จะเพิ่มเติมใน Pillar 2 จะเป็นเรื่องความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Risk) ด้านกฎหมาย และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Legal and Compliance Risk) รวมถึงเพิ่มความสำคัญด้านปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ให้มากขึ้นในระยะต่อไป เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจในภาคการเงินเป็นไปอย่างยั่งยืน (Sustainable finance) โดยในระยะถัดไปอาจจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานบางอย่างไว้ เพื่อไม่ให้คนทำดีถูกลงโทษ และเพื่อให้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มแข็ง สามารถเป็นกลไกสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคงในระยะยาว 

ทั้งนี้ ภายหลังจากมีการประเมินความเสี่ยงครอบคลุม สถาบันการเงินจะต้องมีวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง และประเมินความเพียงพอเงินกองทุน ซึ่งหากเงินกองทุนไม่เพียงพอจะต้องมีการวางแผนจัดการเงินกองทุน (Capital Plan) รวมถึงมีการติดตามและรายงาน (Monitor & Reports) และทบทวน (Reviews) ซึ่งในแต่ละปีสถาบันการเงินจะมีการส่งแผนให้กับ ธปท.ปีละ 1 ครั้งภายในเดือนมีนาคม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) 

“การปรับปรุงเกณฑ์ Pillar 2 ครั้งนี้เป็นการทบทวนเกณฑ์กำกับดูแลตามปกติไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โควิด-19 และทำมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เพื่อให้เกณฑ์มีความทันสมัย และสถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงใหม่ ๆ ให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่อง Sustainable Finance เพื่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินในระยะยาว และให้สามารถสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลที่นำมาใช้ในประเทศต่าง ๆ และได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19”  

นายจาตุรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีการปรับปรุงเกณฑ์ครั้งนี้จะทำให้สถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น มองว่า ไม่จำเป็นที่จะทำให้สถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มขึ้น แต่สถาบันการเงินจะต้องมีการประเมินเงินกองทุนของตัวเองให้มีความเพียงพอรับความเสี่ยงได้ครบถ้วน ซึ่งหากดูจากผลการประเมินทดสอบภาวะวิกฤตในปี 2563 จะพบว่า บนภายใต้สมมุติฐานที่ค่อนข้างเข็มแข็งจะเห็นว่าสถาบันการเงินยังสามารถผ่านมาได้ และมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น ส่วนในปี 2564 อยู่ระหว่างการประเมิน