Retail CBDC “บาทดิจิทัล” ทดสอบใช้ปีหน้า เพิ่มตัวเลือกชำระเงิน

สกุลเงินดิจิทัลเป็นเทรนด์ที่มาแรงในโลกยุคใหม่ โดยในหลายประเทศได้รับความนิยมมากขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทยเอง ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ได้เริ่มศึกษาและพัฒนาไปสู่ภาคประชาชนเรียกว่า “retail CBDC”ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการ “อินทนนท์”

โดยเริ่มวางแนวทางพัฒนา retail CBDC เมื่อเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมาถึงขณะนี้กำลังจะเริ่มสู่กระบวนการทดสอบ“การใช้จริงในวงจำกัด” ก่อนขยายสู่วงกว้างในระยะถัดไป ซึ่งจะเป็นการยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศสู่โลกดิจิทัลในที่สุด

ประชาชนหนุน Retail CBDC

โดย “วชิรา อารมย์ดี” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า หลังจากเดือน เม.ย. 2564 ที่ ธปท.ได้รวบรวมผลการศึกษาผลกระทบต่อภาคการเงินไทย และสำรวจความเห็นจากสาธารณชนผ่าน direction paper พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา retail CBDC ของ ธปท.

โดยประชาชนมองว่าจะทำให้ไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่อัพเกรดมากขึ้น ซึ่งประชาชนจะมีทางเลือกในการใช้งานมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนทางด้านบริหารจัดการเงินสดของประเทศจะลดลง มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น และลดการผูกขาดของภาคเอกชนได้ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐจะมีประสิทธิภาพ โดยสามารถทำได้ตรงถูกคนมากขึ้น

“ธปท.ประเมินว่าความต้องการใช้ retailCBDC ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสด และเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ได้บางส่วนในระยะต่อไป” นางสาววชิรากล่าว

ไม่กระทบระบบ-นโยบายการเงิน

ขณะที่ผลต่อนโยบายการเงินจะมี 2 ส่วน ได้แก่ 1.ปริมาณเงินในระบบ พบว่าCBDC จะไม่ทำให้ปริมาณเงินเปลี่ยนแปลง หากใช้ CBDC ทั้งกรณีทดแทนเงินสด หรือรูปแบบ e-Money เพียงแค่เปลี่ยนองค์ประกอบของเงินมาในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งCBDC ไม่ต่างจากการใช้ธนบัตร

2.การหมุนเวียนของเงิน จะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดต้นทุนการเงิน แม้ว่าเงินจะหมุนเวียนเร็วขึ้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ให้ความสำคัญกับการดูแลต้นทุนทางการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

“การออกแบบและการพัฒนา retail CBDC ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย โดยประโยชน์ในแง่ภาคประชาชนจะมีทางเลือกที่มีความปลอดภัยสูงและเหนือการชำระเงินรูปแบบเงินสด e-Money ภาคธุรกิจสถาบันการเงินมีระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ และประเทศได้โครงสร้างพื้นฐานทันสมัยรับโลกดิจิทัล” นางสาววชิรากล่าว

Q2 ปีหน้าทดสอบใช้จริงวงจำกัด

ทั้งนี้ สเต็ปต่อไป “วชิรา” บอกว่า ภายในไตรมาส 2 ปี 2565 จะมีการทดสอบใช้งานจริง (pilot test) ซึ่งต้องตอบโจทย์ครอบคลุมพฤติกรรมและผู้เล่นหลากหลาย รองรับการใช้งานพื้นฐาน (foundation track) ที่มีการใช้งานหลากหลายรูปแบบ เพื่อทดสอบผลในเชิงเทคนิคกับการใช้งานจริง

“เบื้องต้นจะเริ่มใช้ภายใน ธปท.ก่อน โดยจะร่วมกัน 4 กลุ่ม ได้แก่ ธปท. ประชาชน ร้านค้า และผู้ประกอบการทั้งสถาบันการเงิน และน็อนแบงก์ หรือผู้ให้บริการระบบชำระเงิน โดย ธปท.มีการกำหนดขอบเขตการใช้ที่จำกัด ทั้งพื้นที่ หรือจำนวนผู้ใช้งาน และเป้าหมายการทดสอบภายในไว้ในทุกไตรมาส เพื่อดูปัญหาอุปสรรค หาแนวทางปรับแก้และประสิทธิผลจากการทดสอบก่อนจะขยายการใช้ในวงกว้างต่อไป” นางสาววชิรากล่าว

ทั้งนี้ ขอบเขตรูปแบบ function พื้นฐานเช่น การรับ แลก และชำระสินค้าบริการ ซึ่งมีทั้งรูปแบบ online & offline โดยเป็นการใช้งานภายในกลุ่มทดสอบที่สมัครใจ ทั้งประชาชน ร้านค้าต่าง ๆ ทั่วไปภายในพื้นฐานที่กำหนด และการจำกัดจำนวนเงินในวอลเลตที่ทดสอบ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าควรอยู่ในระดับไหนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ต้องประเมิน

“ในไตรมาส 2 ปีหน้าจะเป็น pilot project ทดสอบจำกัดเหมือนประเทศจีนที่ทยอยเริ่มใช้เป็นมณฑล ซึ่งใช้เวลาเป็น 1-2 ปี เราก็ทดลองทำและค่อยปรับในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจก่อนจะขยายใช้วงกว้างในระดับประเทศ” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ลดการรั่วไหลเงินอุดหนุนภาครัฐ

ขณะที่ “แซม ตันสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด มองว่า การพัฒนา CBDC ของ ธปท.ดังกล่าว นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของไทยในการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society)

และเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) ที่เป็น stable coin ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของราคา โดยเป็นต่อยอดจากโครงการอินทนนท์ที่ใช้ทำธุรกรรมระหว่างธนาคารกลางกับธนาคารกลาง มาสู่ภาคธุรกิจ

โดย CBDC ที่พัฒนาเป็นโมเดลเดียวกับที่ใช้ในประเทศจีน คือ เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่อยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินได้ ว่าเริ่มจากไหนและจบที่ไหน ซึ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการภาครัฐได้อย่างดีในการทำนโยบายโดยตรงกับประชาชน

ทั้งนี้ CBDC จะช่วยลดการรั่วไหลของเงิน การทุจริต เพราะสามารถตรวจสอบได้ เช่น นโยบายให้เงินผู้ปกครองช่วยค่าเทอม 2,000 บาท และสามารถใช้ในร้านค้าที่กำหนด

โดยเงินจะอยู่ในโมบายแบงกิ้ง หรือแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง แต่จะถูกแยกบัญชี เป็นสกุลเงินดิจิทัลตามวงเงินที่กำหนดไว้ จากเดิมที่รัฐจะให้เงินผ่านประกันสังคมหรือโอนเข้าบัญชี ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินได้นำไปใช้ถูกวัตถุประสงค์หรือไม่

“แบงก์ใหญ่ ๆ มีส่วนร่วม ส่งทีมงานเข้าไปช่วยพัฒนาระบบตั้งแต่โครงการอินทนนท์แล้ว พอขยายมาสู่ CBDC ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องดี นอกจากจะหนุนสังคมไร้เงินสด ยังทำให้เงินไม่ตกหล่นระหว่างทาง สามารถตรวจสอบได้ หากรัฐทำนโยบายกับประชาชน ซึ่งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว ขึ้นกับการสนับสนุนผ่านโครงการภาครัฐ โดยหลังจากมีการทดลองใช้ไตรมาส 2 ปีหน้า ก็คาดว่าในปี 2566 น่าจะขยายวงกว้างขึ้น และในอนาคตต่อยอดไปสู่การโอนเงินที่ทำได้ง่ายขึ้น” นายแซมกล่าว

ถือว่าเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจเลยทีเดียว โดยการที่ภาครัฐลงมือพัฒนาเอง น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี