สรรพากรประเดิมเก็บภาษี e-Service ผู้ประกอบการต่างชาติ 100 ราย เริ่ม 1 ก.ย.

FILE PHOTO : Gerd Altmann / Pixabay/

อธิบดีกรมสรรพากรคาดเก็บภาษี e-Service จากผู้ให้บริการต่างชาติได้ราว 100 ราย ได้เม็ดเงินภาษีประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปี ล่าสุด ยื่นลงทะเบียนผ่านออนไลน์เข้ามาแล้ว 34 ราย ดีเดย์! เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย.2564 นี้เป็นต้นไป

วันที่ 22 สิงหาคม 2564 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป โดยขณะนี้กรมได้เปิดให้ผู้ให้บริการจากต่างประเทศเข้ามาลงทะเบียนทางออนไลน์ผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุด มีลงทะเบียนเข้ามาแล้ว 34 ราย

“เราประเมินว่า ช่วงเริ่มต้นจะมีผู้ให้บริการต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศไทยที่จะต้องเข้ามาลงทะเบียนราว ๆ 100 ราย แต่เปิดระบบ VES ไปแค่ 5 วัน ก็มีต่างชาติมาลงแล้ว 34 ราย โดยรายใหญ่ที่มีข่าวก่อนหน้านี้ ก็มาทั้งหมด ซึ่งจะเริ่มมีเม็ดเงินภาษีเข้ามาตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2564 นี้เป็นต้นไป โดยจะต้องมีการยื่นแบบเสียภาษีทุก ๆเดือน เหมือนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บผู้ขายสินค้าและให้บริการในประเทศ ทั้งนี้ ประเมินว่าจะมีรายได้ส่วนนี้ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท” นายเอกนิติกล่าว

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า การเก็บภาษี e-Service ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้กรมได้ข้อมูลของผู้ให้บริการต่างชาติที่มีรายได้ในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตจะใช้ในการเก็บภาษีเงินได้ต่อไป โดยขณะนี้กลุ่มประเทศ OECD อยู่ระหว่างเคลียร์เรื่องภาษีซ้อนอยู่

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับภาษี e-Service จะจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการ e-Service ในประเทศไทย ที่มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาท โดยการจัดเก็บภาษี VAT ที่ 7% จากภาษีขาย ซึ่งจะไม่สามารถนำภาษีซื้อมาหักได้เหมือนกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในประเทศ โดยผู้ประกอบการดังกล่าวไม่ต้องออกใบกำกับภาษี สามารถนำส่ง VAT จากรายได้ที่ได้รับได้เลย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต่างประเทศที่เข้าข่าย อาทิ เฟซบุ๊ก, กูเกิล, ยูทูบ, เน็ตฟลิกซ์ รวมถึงผู้ให้บริการดาวน์โหลดเกมออนไลน์, ดาวโหลดแอปพลิเคชั่น และดาวโหลดสติ๊กเกอร์ เป็นต้น