ชำแหละไส้ในกำไร บจ. Q2 พุ่ง เจอล็อกดาวน์รายจ่ายลด-ชะลอก่อหนี้

หุ้นเด่น
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

ชำแหละงบฯ บจ.ไตรมาส 2 “บล.เคทีบีเอสที” ชี้กำไรพุ่งสูงกว่าปกติจาก “รายการพิเศษ” ขณะที่เซ็กเตอร์ใหญ่ “แบงก์-ปิโตรฯ-ถุงมือยาง” กำไรไม่ดีนัก ขณะที่ค่าใช้จ่าย บจ.ส่วนใหญ่ลดเกิดจากมาตรการล็อกดาวน์มากกว่านโยบายลดรายจ่าย คาดไตรมาส 3 กลุ่ม “แบงก์-ปิโตรฯ” กำไรวูบกลุ่มละ 1 หมื่นล้าน ฉุดภาพรวมตลาด

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผยว่า จากงบการเงินงวดไตรมาส 2/2564 ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ทั้งหมดมีกำไรรวมกันทั้งสิ้น 2.75 แสนล้านบาท ถือว่าสูงกว่ากำไรปกติ (คำนวณรวมทุกบริษัทและกองทุนรวม 100% ยกเว้น บมจ.การบินไทย (THAI) และหุ้นติดเครื่องหมาย C, SP เพราะโดยธรรมชาติมูลค่ากำไร บจ.ในแต่ละปีจะเฉลี่ยไตรมาสละประมาณ 2.5 แสนล้านบาท)

กำไรพิเศษกว่า 2 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ หากพิจารณาไส้ในจะพบว่า กำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากการบันทึกรายการพิเศษของ 2 บริษัท คือ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่ขายหุ้น บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท และ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ขายหุ้น บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) มูลค่า 9,000 ล้านบาท

“รวม 2 รายการนี้ก็มีกำไรกว่า 2 หมื่นล้านบาทแล้ว คิดเป็น 8% ของกำไรตลาด และหากตัดทิ้งไปจะเหลือกำไรตลาดแค่ 2.5 แสนล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาส 1/2564 ราว 1 หมื่นล้านบาท” นายมงคลกล่าว

แบงก์-ปิโตรฯ-ถุงมือยางกำไรหาย

นายมงคลกล่าวอีกว่า ยังพบว่าเซ็กเตอร์ใหญ่หลายเซ็กเตอร์มีกำไรลดลงกว่าปกติ อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ที่หุ้นทุกตัวย่อหมด หากไม่รวมกำไรพิเศษจาก BAY ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมีและพลังงานได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันบวก 15% แต่ spread ลดลง ขณะที่กลุ่มถุงมือยาง บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) ก็กำไรหายไปค่อนข้างมาก

“มีเพียง 3 เซ็กเตอร์ที่มีกำไรจากภาวะธุรกิจโดยธรรมชาติ คือ โรงพยาบาล, โลจิสติกส์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีด้วย” นายมงคลกล่าว

ค่าใช้จ่ายลดจากรัฐปิดเมือง

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ บจ.มีค่าใช้จ่ายปรับตัวลดลง แต่เป็นการปรับลงตามสภาวะเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 และคำสั่งมาตรการทำงานที่บ้าน (WFH) เพราะโดนปิดสาขา ลดเวลาทำงาน ทำให้ค่าใช้จ่ายพวกค่าน้ำค่าไฟปรับตัวลง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์กับสภาพธุรกิจที่ปรับตัวลดลงตามยอดขาย อาจจะยังไม่ได้ลดลงจากนโยบายลดค่าใช้จ่ายเท่าใดนัก

กระแสเงินสด บจ.กว่า 4 แสน ล.

ขณะที่ภาพรวมกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (operating cash flow) ของ บจ.วิเคราะห์รวม 200 บริษัท ส่วนใหญ่ยังค่อนข้างทำได้ดี โดยในไตรมาส 2 มีกระแสเงินสดกว่า 4 แสนล้านบาท (ไม่รวมรายการพิเศษ) สูงมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่อยู่แค่ 8 หมื่นล้านบาท ถือว่ากระแสเงินสดดูดี เพราะผลประกอบการหุ้นส่วนใหญ่ดีมาก จากกลุ่ม ปตท. (PTT) และปูนซิเมนต์ไทย (SCC)

ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไร (EBITDA) ยังค่อนข้างดี โดยรายได้ไตรมาส 2 ของ บจ.ในตลาดทำได้ 3.1 ล้านล้านบาท ทะลุสถิตินิวไฮของตลาด จากระดับ 2.9-3 ล้านล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนหุ้นที่ค่อย ๆ เพิ่มเข้ามาในตลาดหุ้นไทย และมองเห็นการทำธุรกิจของ บจ.กลับมาใกล้ระดับปกติ แม้อัตรากำไรสุทธิ (net profit margin) ไตรมาส 2 จะอยู่ที่ 8.7% ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่อยู่ที่ 9%

“ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ความสามารถในการทำกำไรของตลาดหุ้นไทยลดลงต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบสงครามการค้าและวิกฤตโควิด แต่ในไตรมาส 2 ความสามารถในการทำกำไร เริ่มกลับมาสู่สภาวะก่อนปี 2561 ได้แล้ว เช่นเดียวกันผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ของตลาดช่วงก่อนปี 2561 อยู่ประมาณ 12-13% ตอนเจอวิกฤตหล่นลงไปอยู่ราว 4% แต่ปัจจุบันฟื้นตัวขึ้นมาบริเวณ 8% สะท้อนว่าผลกระทบจากโควิดที่มีผลต่อตลาดหุ้นไทยลดลงไปมาก” นายมงคลกล่าว

ไตรมาส 3 กำไร บจ.ส่อวูบหนัก

นายมงคลกล่าวด้วยว่า โดยสรุปคือภาพกำไร บจ.ในไตรมาส 1-2 ของปี 2564 เจอผลกระทบโควิดเพียงแค่ไตรมาสละ 1 เดือน (ม.ค.และ มิ.ย.) แต่ไตรมาส 3/2564 จะโดนผลกระทบทั้งไตรมาส เพราะฉะนั้นคาดการณ์กำไรไตรมาส 3 ปีนี้น่าจะต่ำระดับ 2 แสนล้านบาท หรือหายไปกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ มาจากกลุ่มแบงก์ กำไรหาย 1 หมื่นล้านบาท, กลุ่มปิโตรเคมีและพลังงาน กำไรหาย 1 หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านี้นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ บจ.ไทยมียอดขายรวม 6,075,960 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (core profit) อยู่ที่ 804,953 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118.6% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 528,342 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 144.2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน

บจ.ระวังก่อหนี้เพิ่ม D/E ลด

ขณะที่เฉพาะงวดไตรมาส 2 บจ.มีผลประกอบการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 จากผลกระทบโควิดระลอก 3 โดยมียอดขาย 3,119,488 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงานหลักอยู่ที่ 408,573 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 265,403 ล้านบาท

“ณ ไตรมาส 2/2564 ฐานะการเงินของ บจ.ไทยมีความระมัดระวังในการดูแลโครงสร้างของทุน ส่งผลอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) หรือ D/E ratio ลดลงมาอยู่ที่ 1.50 เท่า จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 1.54 เท่า” นายแมนพงศ์กล่าว