“ช็อปช่วยชาติ” มีดีอย่างไร? ทำไมเอกชนขอให้ฟื้นมาตรการ

กราฟิกช้อปช่วยชาติ

“ช็อปช่วยชาติ” เครื่องมือในอดีตที่รัฐใช้กระตุ้นการบริโภคต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวยังถูกยกมาพูดถึงจากฝั่งเอกชน ว่าขอให้รัฐฟื้น “ช็อปช่วยชาติ” เพื่อมากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปีนี้อีก แม้ว่าตอนนี้รัฐจะอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ ยาวถึงสิ้นปี 2564

หากถามว่าทำไมภาคเอกชนจึงอยากให้รัฐฟื้นมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” แล้วจะช่วยประครองเศรษฐกิจช่วงปลายปีได้จริงหรือไม่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลช่วงที่ผ่านมาในการออกมาตรการดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2558-2561 โดยหากย้อนกลับไปในอดีตของปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกที่รัฐนำมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ออกมาใช้ ระยะเวลา 7 วัน หรือระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. แล้วให้วงเงินลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนที่ออกไปใช้จ่ายในช่วงเวลาที่กำหนดได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

โดยกระทรวงการคลังประเมินว่า ผลจากมาตรการดังกล่าว จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 9,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้ภาษีราว 1,200 ล้านบาท และคาดว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มได้ 0.014% ซึ่งบทสรุปเศรษฐกิจไทยในปีนั้น ก็คือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวได้ 2.9% ต่อปี จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 0.8% ต่อปี

ถัดมาในปี 2559 รัฐขยายระยะเวลาในการดำเนินมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ออกไปอีก รวมเป็น 18 วัน ดำเนินการตั้งแต่ 14-31 ธ.ค. ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีเวลาในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า แต่ยังคงวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งช่วงนั้นรัฐคาดว่าจะกระตุ้นจีดีพีได้ราว 0.02-0.03% ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงระบบเศรษฐกิจประมาณ 17,000 ล้านบาท และในปีนั้นจีดีพีก็ขยายตัวได้ 3.2%

ต่อมาในปี 2560 ได้เพิ่มเวลามาตรการรวมเป็น 23 วัน ระหว่างวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค. และยังคงให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท รอบนี้กระทรวงการคลังคาดว่า จะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 22,500 ล้านบาท และกระตุ้นจีดีพีได้ 0.5% โดยในปีนั้นเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.9%

และในปี 2561 ถือเป็นปีสุดท้ายของการออกมาตรการช็อปช่วยชาติ รอบนี้รัฐขยายเวลาดำเนินการนานถึง 31 วัน วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทเหมือนเดิม แต่ให้ลดหย่อนภาษีเฉพาะการซื้อสินค้า หรือค่าบริการเกี่ยวกับการเปลี่ยนยางรถยนต์ หรือค่าหนังสือ หรือบริการ e-Book และสินค้าโอท็อป ไม่ได้กำหนดให้ใช้ได้กับสินค้าทุกประเภทเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงการคลังประเมินว่าจะมีเงินไหลลงระบบเศรษฐกิจ 12,000 ล้านบาท โดยในปีดังกล่าว จีดีพีขยายตัวได้ 4.1%

ซึ่งถือว่า “ช็อปช่วยชาติ” ที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนั้น สามารถจูงใจให้ประชาชนออกมาจับจ่ายอย่างคึกคัก ช่วยให้ธุรกิจค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ซึ่งในช่วงนั้นนักวิเคราะห์หลายฝ่ายก็ได้มีการประเมินผลของโครงการ เช่น บล.เอเชีย พลัส คาดว่าจะช่วยอุดหนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมค้าปลีก และเพิ่มยอดใช้จ่ายซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้น 20% หรือราว 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเติดโตขึ้น 0.3% ในปี 2558 เมื่อเทียบกับปี 2559

สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในช่วงเดือน พ.ย. 60 ซึ่งพบว่า อุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าสะท้อนจาการเพิ่มขึ้นของยอดดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศ โดยเป็นผลจากมาตรการช็อปช่วยชาติ ระหว่างวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค. 60 เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น รัฐได้ใช้มาตรการ “ช็อปดีมีคืน” ซึ่งเป็นลักษณะการให้วงเงินลดหย่อนภาษีเหมือนกับ “ช็อปช่วยชาติ” ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปี 2563 แทน เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. โดยกำหนดให้ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษี VAT เท่านั้น และสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน

โดยกระทรวงการคลัง คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมูลค่าประมาณ 111,000 ล้านบาท จะส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.30% อย่างไรก็ดี จากการดำเนินมาตรการดังกล่าว ควบคู่ไปกับโครงการคนละครึ่ง ซึ่งถือได้โครงการคนละครึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีมาก จนนำมาสู่เฟสที่ 3 ในปัจจุบัน ส่วน “ช้อปดีมีคืน” นั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานว่า มีผู้เข้าร่วมมาตรการและขอคืนภาษีกับกรมสรรพากรเพียง 900,000 รายเท่านั้น และผลกระทบการแพร่ระบาดโควิดในปี 2563 ทำให้จีดีพีหดตัว -6.1%

ทั้งนี้ ผลพวงโควิดที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน และท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อไหร่ จึงมีความหวังจากภาคเอกชนว่า “ช็อปช่วยชาติ” จะเข้ามากระตุ้นกำลังซื้อในช่วยปลายปีนี้ได้ เพื่อให้ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งร้านค้าต่าง ๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น หลังจากนัฐได้ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด กระทั่งต้องปิดห้างร้าน ทำให้ยอดขายลดน้อยลง

โดยก่อนหน้านี้ น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า หากควบคลุมการแรพ่ระบาดได้ คลังสามารถพิจารณามาตรการเพิ่มกำลังซื้อต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว หรืออาจจะมองโครงการที่มีข้อเรียกร้องจากภาคเอกชน ที่เสนอให้นำมาตรการ เช่น ช็อปช่วยชาติ ช้อปดีมีคืน กลับมาใช้อีกครั้ง ส่วนจะออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เลยหรือไม่นั้น จะพิจารณาตามสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้ยังมีโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ที่ยังออกมาได้อยู่

สุดท้ายแล้ว รัฐบาลจะรับลูกข้อเสนอนี้จากเอกชน โดยงัดมาตรการช็อปช่วยชาติมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีอีกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป