กรุงศรีฯชี้ กำหนดเพดานดอกเบี้ยเป็นดาบ 2 คม แนะ ธปท.สร้างการแข่งขันในตลาด 

ภป-จับตาขึ้นดอกเบี้ยกู้

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม หรือ Fair Finance Thailand เปิดผลสำรวจลูกหนี้รายย่อย 45.1% มีหนี้เพิ่มจากโควิด-19 เผยมี 10.1% หันพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ เสนอ 6 ข้อปรับเพดานดอกเบี้ยทุกชนิด-เพิ่มมาตรการเยียวยา-ออกวงเงินเครดิตผู้มีรายได้น้อย ด้าน “กรุงศรีอยุธยา” หนุนธปท.สร้างกลไกการแข่งขันแทนการปรับเพดานดอกเบี้ย เหตุเป็นดาบ 2 คมสะท้อนความเสี่ยง-ต้นทุน แนะพัฒนากฎหมายหลักประกัน-ข้อมูลปล่อยกู้ เพิ่มโอกาสคนเข้าถึงสินเชื่อ

วันที่ 14 กันยายน 2564 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “โควิด วิกฤติหนี้ ผีซ้ำด้ำพลอย ทางออกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม” ที่จัดโดย “Fair Finance Thailand” ว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ต้องยอมรับว่าในช่วงโควิด-19 ระบาด ที่เรียกว่า “ทวิวิกฤต” คือ วิกฤตสาธารณะ และวิกฤตเศรษฐกิจ โดยส่วนตัวไม่ได้กังวลเรื่อง “หนี้” แต่การเป็นหนี้ หรือการกู้มาแล้วจะเอาไปทำอะไร เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหนี้เป็นการหล่อเลี้ยงเพื่อรอเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้ง 

อย่างไรก็ดี ความเป็นหนี้จะมาจาก “เรา” หรือ “ภาครัฐ” ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ มีการอัดฉีดเม็ดเงินช่วยเหลือจำนวนมหาศาล เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย โดยประเทศไทยวันนี้กิจกรรมการทางเศรษฐกิจถูกหยุด ซึ่งอย่างแรกที่ต้องทำ คือ การห้ามเลือดให้หยุดไหล คือ การลดภาระหนี้ แต่หลังจากห้ามเลือดเสร็จแล้ว จะต้องให้เลือดใหม่ ซึ่งวันนี้จะเห็นว่ามาตรการมีค่อนข้างน้อยมาก 

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้มีการศึกษามาตรการที่ประเทศไทยควรทำและสามารถทำได้ทั้งหมด 23 มาตรการ แต่จะมีเพียง 6 มาตรการที่ไทยควรทำ เช่น มาตรการรักษาการจ้างงาน การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงภาคธุรกิจ การลดค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมถึงการใช้เงินช่วยเหลือโดยตรงกับครัวเรือน โดยทั้งหมดใช้เม็ดเงินรวมทั้งสิ้น 7 แสนล้านบาท และหากสามารถทำได้ตามมาตรการดังกล่าว ในอีกใน 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะได้คืนกลับมามากกว่า 8.6 แสนล้านบาท แต่หากไม่ทำจะทำให้บริษัทกว่า 2.5 แสนรายขาดสภาพคล่อง และอาจต้องปิดตัวบ้างส่วน และกระทบครัวเรือนกว่า 4 ล้านครัวเรือนที่จะมีเงินไม่พอใช้จ่าย 


สร้างการแข่งขันแทนการกำหนดเพดานดอกเบี้ย 

กรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการลดเพดานดอกเบี้ยนั้น ดร.สมประวิณกล่าวว่า การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นดาบ 2 คม เหมือนจะช่วยเขาแต่ก็ไม่ได้ช่วย ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย สะท้อน 2 มิติ คือ สะท้อนความเสี่ยง ในหลักไฟแนนซ์ยิ่งเสี่ยงสูงอัตราดอกเบี้ยยิ่งสูงเพื่อชดเชยความเสี่ยง และสะท้อนต้นทุนของการทำธุรกิจ ซึ่งหากเป็นรายย่อยมาก ๆ มีการเรียกเก็บเป็นรายวันจะยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น

ดังนั้น หากมีการกำหนดดอกเบี้ย เช่น อยู่ที่ 18% คนที่มีความเสี่ยงอยู่ที่ 19% ซึ่งหากจะดอกเบี้ยกำหนดเพียง 1% ก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินได้ และต้องออกไปใช้เงินก็นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงกว่า 20% ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าการกำหนดเพดานดอกเบี้ยจะมีผลดีหรือไม่ อย่างไรก็ดี ในระยะยาวหากสามารถให้เกิดการแข่งขัน เช่น ธนาคารออมสินที่เข้ามาแข่งขันและปรับลดลดอกเบี้ย จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ทั้งดอกเบี้ยและบริการ 

“ในระยะสั้นเราต้องช่วยเหลือลูกหนี้ก่อน แต่ในระยะยาวเราต้องเพิ่มการแข่งขัน เพราะหากเรากำหนดอกเบี้ยมากๆ และวันหนึ่งผู้ประกอบการบอกว่างั้นฉันไม่ทำนะ จะยิ่งทำให้คนหลุดนอกระบบ เพราะต้องยอมรับว่าคนยังคงมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ดังนั้น การเพิ่มการแข่งขันในตลาดการเงินเป็นสิ่งสำคัญ และเราไม่ควรออกแบบมาให้คนที่มี Risk Profile แค่อันเดียว เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามีคนที่มีความเสี่ยงตั้งแต่เสี่ยงต่ำไปจนถึงสูง จึงต้องออกแบบระบบการเงินที่สามารถเสิร์ฟได้ทุกกลุ่ม ซึ่งดอกเบี้ยไม่จำเป็นต้องถูกที่สุดก็ได้” 

พัฒนากฎหมายหลักประกัน-ใช้ข้อมูลอื่นปล่อยกู้

สำหรับการใช้ข้อมูล (Information) ในการปล่อยสินเชื่อ จะพบว่าในอดีตถูกกระจายให้กับผู้จัดการสาขา ซึ่งจะรู้จักลูกค้าค่อนข้างดีว่าใครดีไม่ดี และมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ แต่ปัจจุบันพบว่าอำนาจการปล่อยสินเชื่อถูกรวมไปที่ศูนย์กลาง โดยการพิจารณาสินเชื่อจะพิจารณาจากข้อมูลการเดินบัญชี และสินทรัพย์ จึงเป็นการปล่อยสินเชื่อแบบเงินต่อเงิน เพราะสถาบันการเงินขาดข้อมูลที่ผู้จัดการเคยมีไป ทำให้ลูกค้ากลุ่มที่ไม่มีเงิน แต่มีความสามารถไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ดังนั้น จึงต้องพัฒนาโดยการดึงข้อมูลส่วนนั้นเข้ามาประกอบในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น

ขณะเดียวกัน เรื่องของหลักประกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการเป็นหลักประกันได้จะต้องมี 4 ด้านด้วยกัน คือ สามารถคำนวณมูลค่าได้ รักษามูลค่าได้ สามารถยึดได้ และสามารถแปลงเป็นเงินสดขายทอดตลาดได้ ซึ่งจะเห็นว่าหลักประกันที่เข้าข่ายจะมีเพียงอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่จากการทำวิจัยพบว่า ประเทศไทยไม่ได้มีการออมด้วยเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังออมในรูปแบบอื่น เช่น วัว เป็นต้น ดังนั้น จะต้องเข้าใจบริบทและพัฒนาตลาดรองและกฎหมายให้สอดรับ เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนเข้าถึงมากขึ้น 

ธปท.หนุนแบงก์ปรับโครงสร้างระยะยาวอุ้มลูกหนี้ 

นางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ กลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นเวลานาน และสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ธปท.ได้มีการติดตามอใกล้ชิดว่ามาตรการและนโยบายที่ออกไปมีปัญหาและอุปสรรคตรงไหน และได้ตรงตามเป้าหมายหรือไม่ โดยจะพยายามปรับเปลี่ยนนโยบายให้ดีขึ้นและตรงจุด ซึ่งจากเดิมมาตรการเน้นการปูพรมมาเป็นแบบเฉพาะเจาะจง หรือ Targeted มากขึ้น

อย่างไรก็ดี มาตรการที่ออกมาล่าสุด เน้นการปรับโครงสร้างระยะยาว แบบกว้างและลึก โดยปรับโครงสร้างให้สะท้อนกับอาการของลูกหนี้ หรือทำให้ค่างวดสะท้อนกับรายได้ที่แท้จริง ทั้งนี้ ธปท.ได้คุยกับสถาบันการเงินถึงเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ส่วนลดมูลหนี้ (แฮร์คัตหนี้) แต่อยากให้ลดภาระชำระต่ำ ๆ ในช่วงแรก เช่น 100-500 บาทต่อเดือน และทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามรายได้ โดยมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์รายได้น่าจะกลับมาดีขึ้นในกลางปี 2565 จึงอยากเห็นปรับโครงสร้างระยะยาว 

ขณะที่การปรับเพดานอัตราดอกเบี้ย เบื้องต้น เป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดย ธปท.ต้องการให้เกิดการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะการแข่งขันอัตราดอกเบี้ยที่อยู่บนความเสี่ยง หรือ Risk Based pricing อย่างไรก็ดี ในช่วงโควิด-19 อาจจะไม่ได้เป็นจังหวะที่ในการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition แต่หลังจากโควิด-19 คลี่คลายลงอาจจะเป็นเรื่องที่จะต้องกลับมาดู อย่างไรก็ตาม การลดภาระดอกเบี้ย ธปท.อยากเสนอโครงการ “รวมหนี้” หรือ Debt Consolidation หากลูกหนี้มีสินเชื่อบ้านสามารถนำมารวมกับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันได้ ซึ่งจะช่วยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ถึง 2 ใน 3 จากเดิม 20% เหลือต่ำกว่า 10% ได้เช่นกัน ถือเป็นอีกวิธีการลดภาระดอกเบี้ย 

“ธปท.มีทีมงานภายในที่ดูว่า Policy ที่ออกไปตรงตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะยอมรับว่าโควิดส่งผลกระทบทุกช่วงชั้น  ซึ่งเวลาเราทำนโยบายจะดูจากรายได้ของคนที่ลดลง จึงอยากเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว โดยเราทำให้แบงก์มีต้นทุนน้อยลงเพื่อให้สามารถไปช่วยลูกหนี้ได้ ซึ่งการคุยกับแบงก์การปรับโครงสร้าง ไม่จำเป็นต้องแฮร์คัตหนี้ แต่อยากให้ออกแบบการช่วยเหลือสะท้อนกับรายได้ที่แท้จริงของลูกหนี้ โดยตอนนี้กำลังติดตามโปรดักต์โปรแกรมของแต่ละธนาคารอยู่” 

เสนอ 6 ข้อแก้วิกฤตลูกหนี้รายย่อย  

นางสาวสฤณี อาซวานันทกุล Fair Finance Thailand กล่าวว่า จากการจัดเก็บข้อมูลสถานการณ์และความต้องการของลูกหนี้รายย่อยผ่านแบบสอบถามออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน-21 พฤษภาคม 2564 พบว่า สถานะลูกหนี้รายย่อย 45.1% ลูกหนี้ที่มีหนี้อยู่แล้ว และมีหนี้มากขึ้นภายหลังจากมีการระบาดของโควิด-19 และประมาณ 41.8% มีหนี้อบยู่ก่อนหน้านี้ และหนี้สินไม่ได้เพิ่มขึ้นมากหลังโควิด-19 และอีก 6.5% ลูกหนี้ที่ไม่มีหนี้ แต่เริ่มมีหนี้หลังการระบาด

ทั้งนี้ วิธีการจัดหนี้ของลูกหนี้รายย่อย พบว่า สัดส่วนประมาณ 64% ลดภาระค่าใช้จ่าย และ 37% พยายามเข้ามาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ 36% พยายามหารายได้ชดเชยเพิ่มเติม และ 24% พยายามหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อใช้หนี้เดิม และอีก 10.1% กู้เงินนอกระบบ อย่างไรก็ดี การกู้ยืมเพิ่มเติมจะแตกต่างตามกลุ่มอาชีพ เช่น ข้าราชการจะกลุ่มสหกรณ์ พนักงานเอกชน จะกู้ยืมสถาบันการเงิน และอาชีพอิสระจะกู้ยืมหนี้นอกระบบ 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ได้เข้ามาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐและธปท.ที่มีประมาณ 36% นั้น พบว่า สาเหตุ คือ ไม่อยากรับภาระหนี้หลังมาตรการจบลงสูงถึง 73% และ 31% มองว่ามาตรการช่วยเหลือเพียงชั่วคราวเท่านั้น และอีก 22% กระบวนการเข้าโครงการช่วยเหลือมีความยุ่งยากใช้เวลานาน และมีอีก 47% มองว่ามาตรการไม่ตรงกับความต้องการ และที่เหลือ 12% ไม่ผ่านการอนุมัติจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ ลูกหนี้มองว่ามี 3 มาตรการที่มองว่าช่วยได้จริง คือ การพักชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย และยืดระยะเวลาการชำระออกไป

สำหรับการสำรวจความคิดเห็นพบว่ามี 6 ข้อเสนอจากแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม ได้แก่ 1.ธปท.ควรมีการสำรวจความคิดเห็นของลูกหนี้ เพื่อปรับปรุงมาตรการให้ตรงจุดมากขึ้น และแก้ไขปัญหาอุปสรรคของลูกหนี้ที่เข้าไม่ถึงมาตรการ 2.เสนอรัฐบาลให้มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด 3.พิจารณายกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยทุกชนิด เน้นการกำกับดูแลการให้บริการที่เป็นธรรม (market conduct) แทน

และ 4.จัดตั้งกลไกไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนอกศาล 5.ผลักดันกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา และ 6.สำหรับปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ควรออกวงเงินเครดิตสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น และจัดตั้งทะเบียนหลักประกันแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว