สถานีลงทุน : European Market, The Elegance of New Economy Investment

หุ้น-กองทุน-แบงก์
คอลัมน์ สถานีลงทุน
วัทธิกร กิจจาวิจิตร 
ธนาคารทิสโก้

นับตั้งแต่ต้นปี 2021 ตลาดหุ้นยุโรปมีเงินไหลเข้าจากนักลงทุนทั่วโลก หลังจากเผชิญเงินไหลออกตลอด 3 ปีที่ผ่านมาด้วยปัญหาภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัทในยุโรปจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ปรับการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในอดีตนักลงทุนมีมุมมองต่อตลาดหุ้นยุโรปว่ามีสัดส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมประเภท old economy เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วยุโรปยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น new economy มากมาย

หากมองย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมในยุโรปถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มพลังงานและสถาบันการเงิน ขณะที่ปัจจุบันกลุ่ม healthcare และกลุ่มเทคโนโลยีในยุโรปเติบโตขึ้นสูงมากจนเข้ามามีบทบาทเป็นอุตสาหกรรมหลัก

และจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2020 คือ รัฐบาลยุโรปผ่านร่างงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.8 ล้านล้านยูโรกว่า 30% ก็เพื่อใช้รับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ (green deal) และ 20% เพื่อใช้เปลี่ยนแปลงยุโรปเข้าสู่สังคมดิจิทัล (digital EU)

ซึ่งจะช่วยให้บริษัทในยุโรปเร่งปรับตัวเข้าสู่ new economy หลายบริษัทในกลุ่ม new economy ของยุโรปเป็นที่หมายตาจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลก หากนึกถึงกลุ่มอุตสาหกรรม green energy จะพบว่า 8 ใน 10 ของบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดนั้นอยู่ในยุโรปไม่ใช่สหรัฐ

เช่น ผู้นำด้านพลังงานลมและแสงอาทิตย์อย่าง Orsted และ Vestas Wind จากเดนมาร์ก นอกจาก green energy ยุโรปยังเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรม semiconductor โดยมีบริษัท ASML สัญชาติเนเธอร์แลนด์ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 85% สำหรับเครื่องผลิตชิปแบบ lithography ที่ใช้ผลิตชิปคุณภาพสูงออกจากโรงงานของ TSMC และมีความทันสมัยที่สุดในโลก

สำหรับกระแสอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปี 2020 บริษัทเจ้าตลาดในยุโรปอย่าง Volkswagen (VW) มียอดขายรถยนต์ BEV ทั้งสิ้น 4.2 แสนคัน ขณะที่ Tesla มียอดขาย 5 แสนคัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ ยอดขายรถยนต์ดังกล่าวจะคิดเฉพาะส่วนของรถยนต์ BEV ที่ใช้แบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ Volkswagen ยังมีรถยนต์ประเภท plug-in hybrid และเครื่องยนต์สันดาปภายในให้เลือก โดยแผนของบริษัทจะเพิ่มการผลิตรถยนต์ประเภท BEV ให้มากขึ้นตามความนิยมของผู้บริโภค ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถ BEV ของ Volkswagen ทั่วโลกจะสูงกว่า Tesla ภายในปี 2022 ซึ่งปัจจุบัน VW ก็มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในยุโรป

นอกจากนี้ ในยุโรปยังมีหุ้นกลุ่ม platform และ e-Commerce ที่มีความน่าสนใจ และหลายบริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้แล้ว แตกต่างจาก platform ของสหรัฐ และจีน

เช่น บริษัทรับวางระบบองค์กรและระบบบัญชีขนาดใหญ่สัญชาติเยอรมันอย่าง SAP ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ด้วยอัตรากำไรสุทธิ 20% ขณะที่บริษัท e-Commerce ประเภทสินค้าแบรนด์เนมและแฟชั่นสัญชาติเยอรมันอย่าง Zalando ก็สามารถสร้างผลกำไรและมีการเติบโตของผลกำไรอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

สำหรับอุตสาหกรรม healthcare ในยุโรปนั้นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากกลุ่มเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Pharma หรือ Biotech เช่น Novo Nordisk หรือแม้แต่ผู้ผลิตวัคซีนอย่าง AstraZeneca

จากแนวโน้มการเติบโตของบริษัทในยุโรป ทำให้ Bloomberg Consensus คาดการณ์ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในยุโรปปี 2021 จะขยายตัวสูงถึง 6.5% เมื่อเทียบกับฐานกำไรในปี 2019 และการฟื้นตัวเป็นในลักษณะวงกว้าง ซึ่งบ่งบอกได้จากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสเปน อิตาลี กับเยอรมนี ที่อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี (0.76% และ 1.18%) สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ลดลงของประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าเยอรมนีที่ถือว่าเป็นพี่ใหญ่ของยุโรป

นอกจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคยังสนับสนุนการลงทุนในยุโรป กล่าวคือ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ และยังไม่มีแนวโน้มการปรับขึ้นจนถึงอย่างน้อยต้นปี 2023

ขณะที่ยังมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ PEPP ซึ่งจะครบกำหนดเดือน มี.ค. 2022 แตกต่างจากทางสหรัฐที่เริ่มนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยอัตราการฉีดวัคซีนในยุโรปยังทำได้รวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ประชากรอย่างน้อย 70% ในยุโรปได้รับวัคซีนเข็มแรก เมื่อประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ เศรษฐกิจก็จะเกิดการฟื้นตัว

ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคการผลิตฟื้นตัวกลับไปยังระดับก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนเริ่มเห็นว่ายุโรปที่มีสัดส่วนของอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองสูงจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น

หากประเมินมูลค่าระหว่างตลาดยุโรปและสหรัฐ ในฐานะที่เป็น developed market ด้วยกัน จะพบว่า forward P/E ของยุโรปอยู่ระดับ 16 เท่า ต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐที่ระดับ 22 เท่า ทำให้ค่าส่วนต่างระหว่าง forward P/E ของยุโรปและสหรัฐต่างกันสูงถึง 35% ซึ่งเป็นระดับมากสุดในรอบ 10 ปี บ่งชี้ให้เห็นว่านักลงทุนให้ความสนใจกับหุ้นสหรัฐเยอะกว่ายุโรปมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา

หากมองไปข้างหน้าด้วยส่วนผสมของอุตสาหกรรมประเภท cyclical to value ในธีม reopening ผสมผสานกับ new economy ได้อย่างลงตัวในยุโรปจะทำให้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามอง และเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนในสภาวะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังนิยมลงทุนในหุ้นของสหรัฐ