แนวโน้มดอกเบี้ยไทยในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว

ลดดอกเบี้ย-covid-ช่วยประชาชน
คอลัมน์ นั่งคุยกับห้องค้า
กฤติกา บุญสร้าง
ธนาคารกสิกรไทย

ในสภาวะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าชะลอความรุนแรงลง และการกระจายวัคซีนคืบหน้าไปกว่า 45% ของประชากรทั่วโลกแล้ว รัฐบาลหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดเข้าสู่ภาวะการเปิดเมืองอีกครั้ง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกส่งสัญญาณบวกมากขึ้น และกดดันให้เงินเฟ้อในหลายประเทศเร่งตัวขึ้น

ในประเทศเศรษฐกิจหลัก เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นกดดันให้ธนาคารกลางเริ่มสัญญาณลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงเช่น ธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ต้องส่งสัญญาณลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ในเร็ววันนี้

รวมถึงเปิดเผยคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น หลังจากเงินเฟ้อในประเทศแตะระดับ 5.4% ในเดือน ก.ค. สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1991 ด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศชะลอความเร่งในการซื้อสินทรัพย์ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่าคาดและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.0% ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี

การปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นอีกเครื่องมือที่ธนาคารกลางหลายประเทศเลือกใช้เพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางของบราซิลปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาแล้วถึง 5 ครั้งในปีนี้ จากระดับ 2.0% ในช่วงต้นปี เป็น 6.25% ในปัจจุบัน

และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ด้วยแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงถึง 9.68% ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาด้านธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับดอกเบี้ยขึ้นเป็นประเทศแรก ๆ ของเอเชีย เพื่อชะลอเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น และหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ความตึงเครียดผ่อนคลายลงหลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงจากโควิด ระลอกล่าสุดที่รุนแรงและยาวนาน ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอ ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกชะลอตัวตามอุปสงค์ต่างประเทศ และการท่องเที่ยวซึ่งเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงในสัดส่วนที่สูงยังคงซบเซา

โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 73,000 คนเท่านั้น นับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 40 ล้านคนในปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

ด้านเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ โดยในเดือน ส.ค.ติดลบเล็กน้อยที่ 0.02% หากพิจารณาในช่วง 8 เดือนแรกของปี เงินเฟ้อไทยอยู่ที่ 0.7% ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% จึงไม่มีแรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะนี้

ประกอบกับการขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากเดิมที่สิ้นสุด ณ สิ้นปี 2021 เป็นสิ้นปี 2022 ด้วย

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเนื่องจากการกระจายวัคซีนที่ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายของภาครัฐ และแผลเป็นที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจที่อาจจะยังไม่เห็นชัดเจนมากนัก ด้วยปัจจุบันเรายังคงต้องรักษาแผลสดที่เกิดขึ้น อีกทั้งส่วนต่างระหว่างกำลังการผลิตปัจจุบันและประสิทธิภาพการผลิตจริง (output gap) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะปิดช่องว่างนี้ได้

ประกอบกับภาวะสังคมผู้สูงอายุที่ไทยกำลังจะเผชิญในปี 2029 อาจทำให้ครั้งนี้ไทยอาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้นเป็นประเทศท้าย ๆ ของเอเชีย โดยเราประเมินว่า ธปท.มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกยาวนาน