หนี้สาธารณะไทยพุ่ง 9 ล้านล้านบาท ปีงบ’65 แผนก่อหนี้ใหม่ 1.34 ล้าน ล.

คุมโควิดระบาด-เงินบาท

สบน.อัพเดตหนี้สาธารณะไทยสิ้นเดือน ส.ค. อยู่ที่ 57.01% มูลค่ากว่า 9 ล้านล้านบาท แต่ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง คาดสิ้นปีงบ’65 อยู่ที่ 62.69% ส่วนแผนก่อหนี้ใหม่ปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่  1.34 ล้านล้านบาท 

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้อัพเดตสัดส่วนหนี้สาธารณะบนเว็บไซต์ ล่าสุด ณ วันที่ 31 เดือนสิงหาคม 2564 หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ระดับ 57.01% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่า 9,159,513.19 ล้านบาท โดยองค์ประกอบของหนี้ แบ่งเป็น รัฐบาลกู้โดยตรง 7,326,599 ล้านบาท รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายของ FIDF 707,077.72 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 837,215.55 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินฯ (รัฐบาลค้ำประกัน) 282,039.62 ล้านบาท หน่วยงานของรัฐ 6,581.30 ล้านบาท

โดยยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกรอบเพดานหนี้สาธารณะเดิมอยู่ที่ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี และการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบปรับกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมกำหนดไม่เกิน 60% ขยับเพดานเป็นไม่เกิน 70% เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) ให้กับรัฐบาลและไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินในอนาคต

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 สบน.ได้กำหนดกรอบแผนการบริการหนี้ ได้แก่ 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1.34 ล้านล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท และ 3.แผนการชำระหนี้ วงเงิน 3.39 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์สถานะหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 62.69%