มอนิ่งสตาร์เผย 9 เดือนเงินไหลเข้ากองทุนรวม 1.3 แสนล้าน

Stock market chart on virtual screen with woman’s hand digital remix

 มอร์นิ่งสตาร์’ เปิดข้อมูลกองทุนรวมไทย 9 แรก เงินไหลเข้าสุทธิ 1.3 แสนล้านบาท ทรงตัวจาก Q2 และเพิ่มขึ้น 5.5% จากสิ้นปี 63 ด้านกองทุนลดหย่อนภาษีคาดว่าหากมีเงินไหลเข้าในช่วง Q4 ที่ 9 พันล้าน จะหนุนให้ทั้งปีเงินไหลเข้าราว 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนกองทุนต่างประเทศผันผวนมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ภาพรวมนักลงทุนยังทยอยลงทุนต่อเนื่อง เงินไหลเข้าสุทธิ 4.7 หมื่นล้านบาท

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย ณ สิ้นเดือน ก.ย.64 (เฉพาะกองทุนเปิด) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาส 2 หรือเพิ่มขึ้น 0.1% และเพิ่มขึ้น 5.5% จากสิ้นปี 63 หรือต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ไม่ถึง 1 แสนล้านบาท โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.7 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.3 แสนล้านบาท

ด้านกองทุนรวมตราสารทุนหรือหุ้นมีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.8 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากมีกองทุนหลายกลุ่มผลตอบแทนติดลบ จึงเป็นส่วนหักล้างการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สิน ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าด้วยมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% จากไตรมาส 2 อย่างไรก็ดีโดยรวมเม็ดเงินไหลเข้ากลุ่มตราสารทุนยังอยู่ในระดับสูงรวมสุทธิ 9 เดือนเกือบ 2 แสนล้านบาท

ขณะที่กองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.6 ล้านล้านบาท เติบโต 1.3% จากไตรมาส 2 มีเงินไหลเข้าไตรมาสล่าสุด 1.7 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้ในประเทศแต่เป็นเงินไหลออกสำหรับกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ รวม 9 เดือนยังคงเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 5.4 หมื่นล้านบาท

กองทุน Money Market ยังเป็นเงินไหลออกต่อเนื่องในไตรมาสล่าสุดที่ 2.9 หมื่นล้านบาท หรือต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5  รวมปีนี้มีเงินไหลออกจากกองทุนทั้งสิ้น 1.2 แสนล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงไปอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวมใกล้เคียงกับช่วงสถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 14%

ส่วนภาพรวมกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 2.3 แสนล้านบาท ลดลง 0.7% จากไตรมาส 2 แต่ยังสูงกว่าสิ้นปี 63 อยู่ 1.3% ซึ่งเป็นผลจากผลตอบแทนหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรก  ซึ่งนับตั้งแต่การยกเลิกกองทุน LTF ไปซึ่งโดยปกติจะเป็นแรงซื้อหุ้นไทยในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง ประกอบกับความนิยมการลงทุนต่างประเทศที่สูงขึ้น ทำให้กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) ยังคงมีแรงขายออกอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7

โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 4.1 พันล้านบาท สะสม 9 เดือนของปีนี้เป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยผลตอบแทนที่เป็นบวกทำให้มูลค่าทรัพย์สินทรงตัวในปีนี้ ฉะนั้นหากไม่รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนจะพบว่าขนาดของกองทุนกลุ่มนี้มียังคงมีการหดตัวลง

ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษSSF และ  SSFX มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.7 พันล้านบาท รวมสะสม 9 เดือนที่ 3.9 พันล้านบาท  ในส่วนของกองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1.0% หรือสูงกว่าสิ้นปี 63 ราว 8.9% มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.2 พันล้านบาท รวมเงินไหลเข้าสุทธิสะสมกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในปีนี้ 5.0 พันล้านบาท หรือเกือบเท่ากันกับช่วง 9 เดือนของปีที่แล้ว

ส่วนกองทุน RMF – Equity มีเงินไหลเข้าไตรมาสล่าสุด 2.7 พันล้านบาท โดยกองทุนที่ลงทุนต่างประเทศเช่น กองทุนหุ้นจีน เทคโนโลยี Healthcare หรือหุ้นทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีทิศทางเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ โดยมีกองทุน K China Equity RMF มีเงินไหลเข้าสูงสุดในประเภทนี้ที่ 400 กว่าล้านบาท ตรงกันข้ามกับกองทุนหุ้นไทยที่ส่วนใหญ่เป็นเงินไหลออกสุทธิ

นางสาวชญานี กล่าวด้วยว่า หากกองทุน SSF มีเงินไหลเข้าในไตรมาสสุดท้ายใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ระดับ 9 พันล้านบาท จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิรวมทั้งปีที่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่ายอดรวมปีที่แล้วราว 2-3 พันล้านบาท

ด้านกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาสที่ 2 หรือ 50.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 5.6 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 2.5 แสนล้านบาท

ถึงแม้ตลาดหุ้นต่างประเทศอาจมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาแต่ในภาพรวมนักลงทุนยังทยอยลงทุนต่อเนื่อง โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นต่างประเทศ 4.7 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท

” ภาพการลงทุนต่างประเทศมีปัจจัยลบที่สำคัญจากจีนมาตั้งแต่เดือนก.ค.เช่น ความปลอดภัยของข้อมูลกรณีบริษัท Didi การห้ามให้โรงเรียนติวเตอร์แสวงหากำไรจากการทำธุรกิจ มาจนถึงประเด็นผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ที่สะท้อนไปยังผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันทางฝั่งสหรัฐฯที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสะท้อนไปยังอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลต่อบอนด์ยีลด์ให้เริ่มขยับขึ้นและทำให้ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลง” นางสาวชญานี กล่าว