แนวโน้มการออก ESG Bond ของไทย กับการก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืน

ภาพประกอบข่าว ความยั่งยืน Sustainability ธุรกิจสีเขียว
คอลัมน์ สถานีลงทุน
สุธาสินี เฉียงขวา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

จากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลายประเทศตระหนักและมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดเป็นข้อตกลงระดับโลกในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รัฐบาลและบริษัทเอกชนต่างเร่งลงทุนเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเพื่อให้ทันตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้ ทำให้มีความต้องการเงินทุนจำนวนมหาศาล

หนึ่งในแหล่งการระดมทุนที่ได้รับความสนใจก็คือ การออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า ESG (environmental, social and governance) bond ซึ่งในประเทศไทยก็เห็นการเติบโตอย่างชัดเจน มีการออกจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นักลงทุนก็ให้การตอบรับอย่างดีเช่นกัน

ESG bond ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนประกอบด้วยตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (green bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (social bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) โดย ESG bond รุ่นแรกของไทยเกิดขึ้นเมื่อมิถุนายนปี 2018 เป็น green bond มูลค่า 1,920 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารทหารไทย อ้างอิงหลักเกณฑ์การออกของ International Capital Market Association (ICMA) และ Asian Capital Market Forum (ACMF)

นอกจาก green bond แล้วในปีนั้นยังมี sustainability bond รุ่นแรกของไทยและอาเซียนด้วยที่ออกโดยธนาคารกสิกรไทย มูลค่า 3,200 ล้านบาท โดยทั้งสองรุ่นเป็นการเสนอขายแก่นักลงทุนในต่างประเทศ

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการระดมทุนของผู้ออกและเพื่อเป็นมาตรฐานในการกำกับดูแล สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ออกเกณฑ์การเสนอขาย green bond ในช่วงปลายปี 2018 ถัดมาในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 ได้ออกหลักเกณฑ์การเสนอขาย social bond และ sustainability bond ตามมา ซึ่งหลังจากที่ได้มีหลักเกณฑ์การออกที่ชัดเจน ยอดการออก ESG bond ของไทยในปี 2019 ที่ 30,040 ล้านบาท ได้ขยายตัวขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปี 2018

ต่อมาในปี 2020 ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งสนับสนุนให้ตลาด ESG bond ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการที่รัฐบาลมีความต้องการใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อรับมือและเยียวยาผลกระทบจากโควิด กระทรวงการคลังได้ออก sustainability bond มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาทในปี 2020 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทยและยังถือเป็น sustainability bond รุ่นแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ออกโดยรัฐบาล และก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม มีความต้องการซื้อเกินกว่าวงเงินประมูลถึง 3 เท่า

นอกจากนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจอีก 2 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และการเคหะแห่งชาติที่ออก green bond มูลค่า 6,000 ล้านบาท และ social bond 6,800 ล้านบาท เมื่อรวมกับการออกของภาคเอกชน ทำให้ในปี 2020 มียอดการออก ESG bond ที่ 86,400 ล้านบาท สูงกว่าปี 2019 เกือบ 3 เท่า

ล่าสุดในปี 2021 นี้ กระทรวงการคลังและการเคหะแห่งชาติได้ระดมทุนเพิ่มเพื่อใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการออก sustainability bond และ social bond มูลค่ารวม 82,100 ล้านบาท ส่วนในด้านของภาคเอกชนก็มีผู้ออก ESG bond รายใหม่ ๆ หันมาระดมทุน เช่น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ออก sustainability bond มูลค่า 6,000 ล้านบาท บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ออก green bond มูลค่า 3,000 ล้านบาท และ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ออก green bond มูลค่า 12,000 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ในปีนี้ยังได้มีการออก ESG bond ประเภทใหม่ที่เรียกว่า sustainability-linked bond (SLB) หรือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (บทความ “Sustainability-linked Bond รุ่นแรกของไทยมาแล้ว” http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2021/290721.aspx) โดย บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มูลค่าการออก 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็น SLB รุ่นแรกของไทยหลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การออก SLB เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม

จากความต้องการระดมทุนที่เพิ่มขึ้นและการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทำให้ยอดการออก ESG bond ในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2021 ทะลุ 1.16 แสนล้านบาท มากกว่ายอดการออกทั้งปี 2020 แล้ว

อีก 3 เดือนที่เหลือของปี 2021 มาติดตามกันค่ะว่าจะมีบริษัท หรือองค์กรใดออก ESG bond เพิ่มอีกบ้าง

ผู้ออกได้เงินทุน นักลงทุนได้ผลตอบแทนและได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

เรา#saveโลก โลกก็#saveเราค่ะ