สัญญาณเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า เปิดประเทศ 1 พ.ย. แค่ “ซ้อมใหญ่”

เปิดประเทศ

การทยอยคลายล็อกดาวน์ และเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ถือเป็นการ “ปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ที่ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้มากขึ้น ทำให้ช่วงนี้เริ่มเห็นสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน เริ่มปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ในปี 2564 และ 2565 ใหม่อีกครั้ง

คลังมองจีดีพีปีนี้โตได้ 1%

กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล มองภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังเปิดประเทศค่อนข้างเป็นบวก โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะโตได้ 3% ซึ่งจะทำให้จีดีพีทั้งปีโตได้ที่ 1% ต่อปี (ช่วง 0.5-1.5%) แม้ว่าไตรมาส 3 เศรษฐกิจจะหดตัว

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง กล่าวว่า แรงหนุนจากการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. จะทำให้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายปีนี้ขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ที่อาจจะเป็นมาตรการทางด้านภาษี อย่างเช่น มาตรการช้อปดีมีคืน เป็นต้น

ขณะที่ “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าจะชะลอลงจากครึ่งปีแรก จากมาตรการควบคุมโรคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดมีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน รวมทั้งการเปิดประเทศ จะทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น

“ยอมรับว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ค่อนข้างหนัก แต่รัฐก็มีมาตรการเข้าไปช่วยเสริม โดยคาดการณ์ว่าไตรมาส 3 จีดีพีจะติดลบประมาณ -3.5% ส่วนไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวได้ 3% ได้ปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศ”

นักท่องเที่ยวต่างชาติโจทย์ใหญ่

โดย สศค.มีสมมุติฐานคาดว่า ในปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 1.8 แสนคน ส่งผลให้มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1 หมื่นล้านบาท ส่วนในปี 2565 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 7 ล้านคน สร้างรายได้ 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งยังห่างไกลกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ซึ่งอยู่ที่ 1.91 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ระบาดของโควิดทั่วโลกและในประเทศที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ประกอบกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยยังมีข้อจำกัด รวมทั้งรัฐบาลของแต่ละประเทศยังมีความกังวลการกลายพันธุ์ของโควิด ทำให้มีข้อจำกัดในการอนุญาตให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย

4 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

ด้านปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 2) ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต และการขนส่งระหว่างประเทศ 3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น และ 4) ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

“ระยะต่อไปการประสานนโยบายการคลังและการเงิน จะมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยกระทรวงการคลังจะมีการติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์ระบาด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนเตรียมมาตรการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนสอดคล้องกับบริบทของการปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบใหม่”

กสิกรฯชี้เศรษฐกิจ Q4 โตต่ำกว่าปีก่อน

ด้าน “ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า กสิกรฯได้ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 0.2% จากเดิมคาดว่าจะหดตัว -0.5% เป็นผลจากการฉีดวัคซีนและการคลายล็อกมาตรการควบคุมโรคเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม รวมถึงการเปิดประเทศ

ซึ่งจะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปีนี้เพิ่มขึ้น จากคาดเดิมอยู่ที่ 1.5 แสนคนเป็น 1.8 แสนคน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 น่าจะขยายตัว 3.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากไตรมาส 3 คาดว่าจะหดตัวที่ -4.4% เป็นจุดต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ดี แต่หากเทียบไตรมาส 4 ปีนี้กับช่วงเดียวกันปีก่อน ยังคาดว่าจะหดตัว -0.5%

“เศรษฐกิจไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวดีกว่าคาด แต่ก็มีประเด็นฉุดรั้งทั้งในเรื่องภัยน้ำท่วม เงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นภาระค่าครองชีพ รวมถึงความไม่แน่นอนว่าจะมีการกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่หรือไม่ หลังจากเปิดประเทศ กรณีเลวร้ายหากมีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ให้ปรับลดลงได้ ซึ่งเราประเมินไว้ว่าจีดีพีปี 2565 จะโต 3.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ค่อนข้างจำกัด และหากมีโควิดสายพันธุ์ใหม่ระบาดระลอกใหม่ คล้ายกับในอังกฤษ และสิงคโปร์ ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2-3 หมื่นรายต่อวันจะส่งผลต่อจีดีพีย่อตัวลง 1-2%” นางสาวณัฐพรกล่าว

KKP เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุด

“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นแล้วแน่นอน โดยไตรมาส 3 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว โดยไตรมาส 4 นี้น่าจะดีกว่าไตรมาส 3 แต่ไม่น่าจะดีกว่าไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ทั้งปีเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ราว 0.5-0.7% และมองไปข้างหน้าก็น่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเริ่มเปิดเมือง เปิดประเทศ แต่ก็ต้องระวังความเสี่ยงหากโควิดกลับมาระบาดรุนแรงอีก ซึ่งคาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะโตได้ 3.9% ลดลงจากเดิมที่คาด 4.6%

“เชื่อว่ายังไงรัฐบาลก็คงไม่กลับไปปิดเมืองแล้ว เพราะแม้ตัวเลขติดเชื้อจำนวนมากอยู่ แต่อัตราการเสียชีวิต อัตราการเข้าโรงพยาบาลอัตราการเข้าไอซียูลดลง แต่ถามว่าเปิดประเทศแล้ว คนจะมากันเยอะไหม ผมคิดว่ายัง การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะต้องใช้เวลา ไม่ได้เปิดปุ๊บมาปั๊บ”

เปิดประเทศแค่ “ซ้อมใหญ่”

“ดร.พิพัฒน์” มองว่า มี 3 ประเด็นที่ทำให้ประเมินว่านักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมา คือ 1) การเดินทางระหว่างประเทศจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เพราะแต่ละประเทศยังไม่ได้เปิดมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดใหญ่ ถึง 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย เพราะจีนยังไม่เปิดประเทศ

ขณะที่ยุโรปก็ยังไม่น่าจะเดินทางท่องเที่ยวระยะไกล ส่วนนักท่องเที่ยวประเทศใกล้ ๆ หลายประเทศก็ยังไม่เปิดให้คนเข้า-ออกประเทศ เช่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ

2) อัตราการฉีดวัคซีน 2 เข็มของไทย ยังทำได้แค่ 40% ของประชากร ทำให้ไม่มั่นใจว่าประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากกว่านี้จะกล้ามาเมืองไทยหรือไม่ 3) ยังมีข้อจำกัดเรื่องศักยภาพ เช่น วันนี้หากจะไปเที่ยวหัวหิน อาจเจอปัญหาว่าโรงแรมเต็ม แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เต็มทุกห้อง แต่เนื่องจากโรงแรมอาจจะมีพนักงานไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้หมดในตอนนี้ เป็นต้น

“ผมมองว่าการเปิดประเทศตอนนี้ เป็นการซ้อมใหญ่มากกว่า เพื่อจะรับไฮซีซั่นปีหน้า ไม่ใช่ปีนี้ เพราะประเด็นสำคัญคือ เปิดแล้วนักท่องเที่ยวไม่ได้กลับมาในทันที แต่ต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ภาพที่เห็นก็น่าจะเป็นคนไทยไปต่างจังหวัดมากขึ้น การท่องเที่ยวในประเทศน่าจะกลับมาก่อน ถ้าการซ้อมใหญ่ผ่านไปด้วยดี นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็คงเริ่มมามากขึ้นช่วงกลางปีหน้า”

ดูเหมือนประเทศไทยกำลังจะก้าวผ่านวิกฤต “โควิด” ช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปได้แล้ว หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นแต่ในแง่ของการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตและแข็งแรง ยังเป็นโจทย์ท้าทายว่ารัฐบาลจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไร ในขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคงไม่สามารถฟื้นกลับมาในเร็ววัน