เตรียมเริ่มใช้ RCEP ม.ค. 65

ภาพ Pixabay

“จุรินทร์” ประกาศไทยยื่นสัตยาบัน RCEP แล้ว ตั้งเป้าต้นมกราคม 65 มีผลบังคับใช้ ลุยการค้า-การส่งออก ของไทย

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) 15 ประเทศ ปัจจุบันการให้สัตยาบัน RCEP ขณะนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มว่าจะให้สัตยาบันครบ 6 ประเทศแล้ว ประกอบด้วย สิงคโปร์ บรูไน สปป.ลาว กัมพูชาและเวียดนาม รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งได้ยื่นให้สัตยาบันแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา

การให้สัตยาบันนั้น โดยกติกาข้อตกลง RCEP ซึ่งมีสมาชิกปัจจุบัน 15 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ กับอีก 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้มีการเจรจาและเป็นที่ยุติเมื่อปี 2562 ขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันเสร็จสิ้นแล้วในเวลานั้น แต่ว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คือ อย่างน้อยในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศต้องมีไม่น้อยกว่า 6 ประเทศให้สัตยาบัน และประเทศนอกสมาชิกอาเซียนที่มี 5 ประเทศอย่างน้อย 3 ประเทศร่วมให้สัตยาบัน รวม 3+6 ก็เป็น 9 ประเทศ

โดยประเทศไทยได้ยื่นให้สัตยาบันไปแล้ว ซึ่งยื่นต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนที่ประเทศอินโดนิเซีย ส่วนประเทศนอกสมาชิกอาเซียน มีจีนกับญี่ปุ่นยื่นไปแล้ว ถ้ามีอีกหนึ่งประเทศ ก็ถือว่าครบตามเงื่อนไข ซึ่งคาดว่าต้นปีหรือเดือนมกราคม 65 ข้อตกลง RCEP จะบังคับใช้ในประเทศสมาชิก 15 ประเทศต่อไป

ซึ่งจะมีผลให้ RCEP กลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันถึง 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก และทำให้กลุ่มประเทศ RCEP มีจีดีพี 33.6% ของจีดีพีโลก หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก มูลค่าการค้าประมาณ 30% ของมูลค่าการค้าโลก ถ้ามีผลบังคับใช้ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย

ทั้งนี้ เมื่อข้อตกลงมีผลบังคับใช้จะสร้างโอกาสทางการค้า ลงทุนให้กับประเทศไทย ยกตัวอย่าง เช่น การส่งออกภาษีเป็นศูนย์อย่างน้อย 39,366 รายการ โดยลดเหลือศูนย์ จำนวน 29,891 รายการทันทีที่บังคับใช้ ตลาด RCEP จะเป็นการเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทยหลายรายการ

เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น ไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยเฉพาะในการส่งออก เมื่อสินค้าไปสู่ด่านถ้าเป็นสินค้าเน่าเสีย ผู้ค้าจะต้องปล่อยสินค้าภายในเวลา 6 ชั่วโมง จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกผลไม้ ผักและสินค้าเน่าเสียหลายรายการของไทย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ หรือระบบออนไลน์

นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ประกอบการการค้าออนไลน์มีตลาดกว้างขึ้น มีกฎเกณฑ์กติกาชัดขึ้น และผู้บริโภคของไทยก็จะได้รับความคุ้มครองมากขึ้น จากการนำเข้าสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากประเทศสมาชิก RCEP ประเด็นที่ 4 ไทยจะได้รับประโยชน์ในการที่มีผู้มาลงทุน เราสามารถส่งออกสินค้าบริการไปยังสมาชิกได้มากขึ้น ภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ

เช่น ธุรกิจการก่อสร้างในกลุ่มประเทศอาเซียนเรามีศักยภาพแข่งขันได้ดีมากประเทศหนึ่ง การค้าปลีก การไปเปิดห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งการให้บริการด้านสุขภาพ ภาพยนตร์และผลิตภัณฑ์ด้านบันเทิงแอนนิเมชั่น เป็นต้น และประการสุดท้าย ประเด็นที่ 5 ไทยจะมีทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนจากประเทศสมาชิกที่มีความหลากหลายขึ้น นี่ก็คือประโยชน์ที่ได้รับจาก RCEP ที่เป็นรูปธรรม

รายงานจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สำหรับข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ RCEP ผู้สนใจรวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจ สามารถศึกษาผ่านศูนย์บริการ RCEP Center ของกระทรวงพาณิชย์ได้ สอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์โทร 02-507-7555 หรือเว็บไซต์ www.dtn.go.th ละรายงานการค้าระหว่างไทย-RCEP การค้ารวม 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.87 ล้านล้านบาท ร้อยละ 57.5 ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไป RCEP 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.83 ล้านล้านบาท เป็นร้อยละ 53.3 ของการส่งออกไทยไปโลก

ไทยนำเข้าจาก RCEP 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.04 ล้านล้านบาท ร้อยละ 62.1 ของการนำเข้าไทยจากโลก และ RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน เป็น 30.2% ของประชากรโลก GDP รวม 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 896.9 ล้านล้านบาท เป็น 33.6% ของ GDP โลก มูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 337.9 ล้านล้านบาท เป็น 30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก

ประโยชน์ที่จะได้รับ คือ สมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที 29,891 รายการ เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อำนวยความสะดวกทางการค้า ปรับพิธีการศุลกากรให้รวดเร็ว มีการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการลงทุนและธุรกิจบริการไทย-ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง ขยายห่วงโซ่อุปทาน ลดความซ้ำซ้อนเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า สามารถเลือกนำเข้าวัตถุดิบที่หลากหลายจากประเทศสมาชิก