กลุ่มปตท.กำไรเฉียด5หมื่นล้าน “TOP-PTTEP” เด่น-ตรึงดีเซลฉุด OR

หุ้นกลุ่ม PTT-หุ้นโออาร์-ปตท.ค้าปลีกฯ

โบรกฯประเมินไตรมาส 3/64 กลุ่ม ปตท. มีกำไร 48,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 30% จากไตรมาส 2/64 “บล.กสิกรไทย” เผยกำไร “TOP-PTTEP” ประคองกำไรกลุ่มจากรายการพิเศษ PTTGC วูบเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ฟาก OR ฮวบ ผลกระทบตรึงดีเซล-ค่าการตลาดไม่ฟื้น ขณะที่ “บล.เคทีบีเอสที” ชี้ปัจจัยบวก “ค่าการกลั่น-กำไรสต๊อกน้ำมัน” หนุน

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หุ้นกลุ่ม ปตท. จำนวน 7 บริษัท

ประกอบด้วย บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ (GPSC), บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR)

ประมาณการว่าจะมีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/2564 รวมกันอยู่ที่ 48,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 30% จากไตรมาสก่อนหน้า (ดูตาราง)

“PTTGC กำไรลดลงจากรายการพิเศษที่หายไปประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท และในเชิงการดำเนินงานกำไรของ IRPC, GPSC, OR ก็ปรับตัวลดลงหมดแต่กำไร TOP กับ PTTEP ปรับตัวดีขึ้น ส่วนแนวโน้มผลดำเนินงานปี 2565 คาดว่ากำไรหุ้นกลุ่ม ปตท.น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ โดย PTTEP ค่อนข้างชัดเจน จากราคาก๊าซที่คงอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมันบวกลบ จากค่าเฉลี่ยปีนี้เล็กน้อย วอลุ่มจะมีการเติบโตได้ประมาณ 6% ในขณะที่ราคาขายทรงตัว แต่ค่าใช้จ่ายลดลง” นายจักรพงศ์กล่าว

สำหรับ OR กำไรจากการดำเนินงานปรับตัวลดลง จากการถูกตรึงราคาน้ำมัน ค่าการตลาด (marketing margin) ที่ยังไม่ฟื้น แต่คาดว่าปีหน้า ผลประกอบการน่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะไม่น่าจะมีการตรึงราคาน้ำมันอีก ซึ่งจะช่วยทำให้ผลประกอบการที่แย่

อย่างในไตรมาส 3-4 ปีนี้ น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงเดียวกันปีหน้า ในขณะที่กลุ่มโรงกลั่นคาดว่ากำไรจะปรับตัวลงเกือบหมด ถึงแม้ว่า core earning จะดีขึ้น แต่กำไรจากสต๊อกสินค้าที่บริษัทมีอยู่ (inventory gain) จะเทิร์นเป็นขาดทุน (inventory loss) ซึ่งกดดันกำไรสุทธิเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนปรับตัวลงหมด

“ตัวธุรกิจที่จะโดดเด่น คือกลุ่ม retail oil เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19จะกลับมาปกติ จากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างสูง ไม่น่าจะทำให้ประเทศกลับมาสู่ล็อกดาวน์ และค่าการตลาด (marketing margin) น่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องด้วยการตรึงราคาดีเซลน่าจะจบลงช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ที่ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลงหลังจากวิกฤตพลังงานทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย” นายจักรพงศ์กล่าว

สำหรับทิศทางราคาน้ำมันปี 2565 การที่กลุ่ม OPEC+ เพิ่มกำลังการผลิตเดือนละ 4 แสนบาร์เรลต่อวันจะส่งผลให้มีซัพพลายเข้ามาประมาณ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับมีซัพพลายฝั่งสหรัฐอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และซัพพลายจากฝั่งบราซิลและนอร์เวย์อีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เมื่อรวมกันจะมีประมาณ 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ความต้องการ (ดีมานด์) น่าจะเติบโตอยู่ในระดับ 3.5-4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น น่าจะเป็นภาวะตลาดที่คลายตัวลง(ดีมานด์เติบโตน้อยกว่าซัพพลาย)

“ดังนั้นในแง่ของสต๊อกน้ำมันดิบโลก(inventory) น่าจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่กลางไตรมาส 1/2565 เป็นต้นไป หรือพ้นหน้าหนาวไปแล้ว ซึ่งตรงนี้น่าจะทำให้ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลงมาจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มองว่าจะอ่อนตัวลงมาอยู่ในระดับ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ตามพื้นฐาน” นายจักรพงศ์กล่าว

ขณะที่นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบีเอสที (KTBST) กล่าวว่า ประเมินกำไรหุ้นกลุ่ม ปตท.งวดไตรมาส 3/2564 จะลดลงจากไตรมาส2/2564 พอสมควร

สาเหตุจาก PTTGC มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้น GPSC แต่ถ้าประเมินผลดำเนินงานธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน มีค่าการกลั่นขยับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากค่าเฉลี่ย1.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ด้านส่วนต่างกำไรธุรกิจปิโตรเคมีอาจจะลดลง

ขณะที่ส่วนใหญ่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน เพราะว่าราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากระดับ 74 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ช่วงเดือน มิ.ย. 2564) สู่ระดับ 78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน

“โอเปอเรชั่นธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันดีขึ้น จากค่าการกลั่นและกำไรสต๊อกน้ำมัน ส่วนสายธุรกิจสเปรดปิโตรเคมีน่าจะแผ่วลง และธุรกิจปั๊มน้ำมันปรับตัวลงจากโดนผลกระทบโควิด ขณะที่บริษัทแม่เองอาจจะดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2/2564 โดยได้กำไรสต๊อกน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นและได้แรงหนุนจาก PTTEP ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่สำคัญที่สุดของ PTT” นายมงคลกล่าว