ภาษีมรดก คืออะไร? ลักษณะแบบไหนต้องเสียภาษี-อัตราเท่าไร

ภาษีมรดกด คืออะไร
ณภัชชา พงศ์วัฒนกิจกุล นักวางแผนการเงิน CFP®

คนที่มีทายาทหรือมีคนที่รัก ทุกคนย่อมอยากส่งมอบทรัพย์สินของตัวเองให้เป็นมรดกตกทอด แต่สงสัยกันไหมคะว่า ภาษีมรดก คืออะไร? มรดกที่เรามอบให้คนที่เรารักนี้ต้องเสียภาษีหรือไม่ และอะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี อะไรบ้างที่ไม่ต้องเสียภาษี

ภาษีมรดก คืออะไร

ต้องบอกว่า ภาษีการรับมรดก หรือ “ภาษีมรดก” ก็คือ ภาษีที่เก็บจากผู้รับมรดกแต่ละรายที่มูลค่ามรดกสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษี และผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี และจัดเก็บภาษีในอัตรา 5-10% สำหรับมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท มักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้ามรดก นั่นคือผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับเจ้ามรดกจะมีอัตราภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกที่อยู่ห่างไกล

ซึ่งก่อนอื่นต้องมารู้จักกับคำว่า “มรดก” ก่อน มรดกคือทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ว่ากฎหมายกำหนดว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย

คำว่า “ทรัพย์สิน” หมายความถึงทั้งสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายที่ได้) และอสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายที่ไม่ได้) รวมถึงพวกทรัพยสินทางปัญญา (ทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน) ด้วย

ส่วนคำว่า “สิทธิ” หมายถึง สิทธิเรียกร้องตามสัญญาและสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย

แล้วภาษีมรดก อะไรต้องเสีย ทรัพย์สินอะไรบ้างที่คุณมีแล้ว เมื่อถึงเวลาส่งต่อเป็นมรดก สู่ลูกหลานแล้วจะต้องเสียภาษีมรดก

คำอธิบาย ภาษีมรดก

มรดกที่ต้องเสียภาษี

1. อสังหาริมทรัพย์   เช่น ที่ดิน บ้าน อาคาร คอนโดมิเนียม

2. หลักทรัพย์ (หมายถึงหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ทั้งตราสารหนี้ และตราสารทุน คือ หุ้น หุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิ กองทุนรวม ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯ

3. เงินฝากต่างๆ ที่ผู้ตายสามารถจะไปถอนเงินคืนจากสถาบันการเงินในประเทศไทยหรือมีสิทธิเรียกร้องจากบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ เช่นเงินฝากในบัญชีธนาคาร เงินฝากสหกรณ์

4. ยานพาหนะ  เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ และพาหนะอื่นๆ ที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นชื่อบุคคลได้

5. ทรัพย์สินทางการเงิน  ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาการคำนวณมูลค่าทรัพย์วันที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก   แบ่งได้ดังนี้

  • อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ให้ถือเอาตามราคาประเมินตามประมวลกฎหมายที่ดิน หักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ
  • อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ให้คำนวณมูลค่า ดังนี้

– ใช้ราคาประเมินกรณีอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่มีราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

– ใช้ราคาที่รับรองโดยหน่วยงานประเมินราคา กรณีอสังหาริมทรัพย์ในประเทศซึ่งไม่มีราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

– ใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก

  • หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้ราคาในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันรับมรดก
  • หลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ใช้มูลค่าดังนี้

– หุ้นของบริษัทใช้มูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ

– ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ ให้ใช้ราคาที่ต่ำกว่าระหว่างราคาจำหน่ายครั้งแรกกับราคาไถ่ถอน

– หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ใช้ราคาเมื่อปิดตลาดของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก

– หลักทรัพย์อื่น ให้ถือตามราคาหรือมูลค่าในวันที่ได้รับมรดก

  • ยานพาหนะ

– รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ หรือเครื่องบิน ใช้ราคาประเมินจากหน่วยงานของประเทศที่จดทะเบียน

– ที่เหลือให้ถือตามราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก

  •  เงินฝาก หรือเงินที่มีลักษณะเดียวกันให้ถือเอามูลค่าของเงินนั้น รวมทั้งดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่นในวันที่ได้รับมรดก หากเป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องคำนวณเป็นเงินไทยการเสียภาษีก่อนและหลังการมีกฎหมายภาษีรับมรดก ซึ่งมีผลบังคับ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559

กรณีที่ 1  เจ้ามรดกเสียชีวิตก่อนกฎหมายมรดกมีผลบังคับ มรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก (ทั้งในฐานะทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม) ก็จะไม่ต้องเสียภาษีมรดก

กรณีที่ 2   เจ้ามรดกเสียชีวิตหลังกฎหมายมรดกมีผลบังคับ ต้องเป็นไปตามกฎหมายการให้มรดก

มรดกที่ต้องเสียภาษี

ภาษีมรดก อะไรไม่ต้องเสีย อะไรบ้างที่เรายกให้แก่คนอื่นหลังจากเสียชีวิต แล้วจะ “ไม่” ต้องเสียภาษีมรดก เนื่องจากได้รักการยกเว้นภาษีมรดก เช่น

1. สิ่งของไม่ระบุชื่อ คือ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนระบุชื่อเจ้าของ เช่น เครื่องประดับ ภาพวาด วัตถุโบราณ ประติมากรรม

2. ยกให้คู่สมรส  คือการยกทรัพย์สินให้เป็นมรดกแก่คู่สมรสตามกฏหมาย (จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย) ไม่ต้องเสียภาษี

3. ประกันชีวิต เนื่องจากเงินค่าสินไหมจากการทำประกันชีวิตที่ระบุยกให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากผู้เอาประกันเสียชีวิตแล้ว ไม่ถือว่าเป็นมรดก จึงไม่ต้องเสียภาษีมรดก เนื่องจากคำว่ามรดก คือทรัพย์สินที่มีมาก่อนการเสียชีวิตของเจ้ามรดก แต่สินไหมที่ได้จากประกันชีวิตนั้นมีหลังจากการเสียชีวิตแล้ว ไม่ถือว่าสินไหมเป็นมรดก จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ข้อกำหนดของกฎหมายมรดกนั่นเอง

4. ยกให้สาธารณะประโยชน์ คือการยกทรัพย์สินให้เป็นมรดกแก่กิจการศาสนา กิจการศึกษาหรือสาธารณะประโยชน์ ไม่ต้องเสียภาษี

5. ยกให้สาธารณะประโยชน์ต่างประเทศ องค์กรต่างประเทศ ได้แก่

– ผู้ได้รับมรดกใช้มรดกเพื่อสาธารณะประโยชน์ต่างๆ หรือใช้ในหน่วยงานรัฐหรือนิติบุคคลเพื่อสาธารณะประโยชน์ต่างๆ กิจการทางศาสนา การศึกษาหรือการสาธารณประโยชน์

– บุคคลหรือองค์กรระหว่างประเทศที่มีข้อผูกพันกับประเทศไทย หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ

นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนรวยจึงชอบสะสมวัตถุโบราณ เครื่องประดับ พระเครื่อง หรือรูปภาพราคาแพงต่างๆ หรือทำพินัยกรรมยกมรดกให้คู่ชีวิต รวมทั้งนิยมทำประกันชีวิตเป็นการสร้างมรดกส่งต่อให้คนที่เรารัก อีกทั้งยังได้ทั้งความคุ้มครองชีวิต และโอกาสในการส่งมอบมรดกแบบไม่เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย