ประกันป่วนเลิก “เจอจ่ายจบ” เคลมพุ่งไม่หยุดผวาโดมิโนทั้งระบบ

ธุรกิจประกันวินาศภัยเข้าโซนอันตราย สมาคมฯ ออกโรงยื่น คปภ. ขอสิทธิยกเลิกกรมธรรม์ “เจอจ่ายจบ” พร้อม 3 แนวทางเยียวยาลูกค้า เผยยอดเคลมพุ่งไม่หยุดคาดสิ้นปีแตะ 4 หมื่นล้าน สะเทือนฐานะเงินกองทุนหลายบริษัท จับตา 16 บริษัทประกันขาย “เจอจ่ายจบ” หวั่นปัญหาลุกลามทั้งอุตสาหกรรม กระทบประชาชนกว่า 60 ล้านกรมธรรม์ โดมิโนเอฟเฟ็กต์ถึงระบบการเงิน-เศรษฐกิจ เลขาธิการ คปภ.นัดถกด่วน 15 พ.ย.

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่บริษัทประกันวินาศภัยได้แห่ขายกรมธรรม์ประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ซึ่งจากข้อมูลสมาคมประกันวินาศภัยไทยระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 64 มียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสมรวม 11,250 ล้านบาท ซึ่งต่อมาบริษัทประกันต่าง ๆ ก็ยุติการขายกรมธรรม์เจอจ่ายจบ ผลจากที่มีการระบาดใหญ่ระลอกที่ผ่านมาทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงมาก ส่งผลให้บริษัทประกันมียอดเคลมพุ่งสูง ทำให้ผลประกอบการขาดทุนและส่งผลกระทบต่อสถานะเงินกองทุนของหลาย ๆ บริษัท

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ยอดเคลมโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” พุ่งสูงเกิน 3 หมื่นล้านบาท ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณอันตรายมาก เพราะตามกฎหมายการรับเสี่ยงภัยใดภัยหนึ่งต้องไม่เกิน 10% ของระดับเงินกองทุน แต่ปัจจุบันเคลมจากโควิดเกินกว่า 26% ของเงินกองทุนแล้ว ขณะที่ปัจจุบันกรมธรรม์เจอจ่ายจบ จำนวนมากยังคุ้มครองไปถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ดังนั้นทางสมาคมมีความกังวลว่าหากเกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่ขึ้นมา ธุรกิจประกันวินาศภัยจะรับมือไหวหรือไม่

ชง คปภ.ขอยกเลิก “เจอจ่ายจบ”

พร้อมกันนี้ นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เสนอให้ คปภ.พิจารณาทบทวนคำสั่งนายทะเบียน เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการจ่ายเคลมสินไหมไปเป็นจำนวนมาก ใช้สิทธิบอก “เลิก” หรือ “เปลี่ยนแปลง” ความคุ้มครองของกรมธรรม์ได้

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากสถานการ์การแพร่ระบาดโควิดอย่างรุนแรงตั้งแต่เดือน ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ส่งผลทําให้ยอดเคลมค่าสินไหมรวมจากการรับประกันโควิดถึงสิ้นเดือน ต.ค. 64 มีมูลค่าสูงกว่า 30,000 ล้านบาท และคาดว่ายอดเคลมสะสมถึงสิ้นปี 2564 จะเพิ่มสูงถึง 35,000-40,000 ล้านบาท ในกรณีไม่มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น

ส่งผลให้ค่าสินไหมจากการรับประกันโควิดคิดเป็น 26.5-30.3% ของเงินกองทุน และอาจเพิ่มสูงถึง 60-70% ของเงินกองทุน หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้น ซึ่งจะทําให้ธุรกิจประกันวินาศภัยอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดําเนินธุรกิจต่อไปได้

16 บริษัทเสี่ยงกุมพอร์ตแสน ล.

สมาคมประกันวินาศภัยไทยระบุว่า ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยจะมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้บริษัทประกันรับประกันเพื่อวินาศภัยเดียวกันเกินกว่า 10% ของเงินกองทุน เนื่องจากหากเกิดความเสียหายขนาดใหญ่ขึ้นแล้วการจ่ายค่าสินไหมจํานวนมากอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของบริษัทได้ ซึ่งจะเห็นว่ากรณีการจ่ายค่าสินไหมโควิดถือเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ และได้ส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนของบริษัทประกันเกินกว่า 10% ไปเป็นจํานวนมาก

ปัจจุบันมีบริษัทประกันวินาศภัยจำนวน 16 บริษัทที่ได้มีการรับประกันภัยโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” ซึ่ง 16 บริษัทดังกล่าวมีกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทรวมกันประมาณ 27 ล้านกรมธรรม์ คิดเป็น 40% ของกรมธรรม์ทั้งหมดของธุรกิจประกันวินาศภัย (ประกันภัยรถยนต์, ประกันอัคคีภัย, ประกันสินทรัพย์ เป็นต้น) และมีเบี้ยประกันประมาณ 110,000 ล้านบาท คิดเป็น 42% ของเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบ

ทั้งนี้ บริษัทประกันวินาศภัยทั้งอุตสาหกรรมมี 55 บริษัท โดยในปี 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท

โดมิโนเอฟเฟ็กต์ระบบ ศก.

นายกสมาคมวินาศภัยฯระบุว่า ปัญหาการจ่ายสินไหมประกันโควิดที่พุ่งสูงขึ้นของ 16 บริษัทประกันวินาศภัยกําลังก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบประกันภัยในอนาคตอันใกล้ หากบริษัทประกันเหล่านี้ประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางการเงินจนอาจต้องปิดกิจการ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันในวงกว้างที่มีทั้งหมดกว่า 60 ล้านกรมธรรม์

“จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางสมาคมฯจึงขอให้ คปภ.พิจารณาทบทวน Macroprudential Supervision สําหรับการรับประกันโควิด และกําหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Outward Risks ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงจากภาคธุรกิจประกันที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด”

3 เงื่อนไขยกเลิก “เจอจ่ายจบ”

โดยสมาคมฯจึงขอให้ คปภ.ทบทวนคำสั่งนายทะเบียน 38/2564 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการจ่ายสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนมาก ใช้สิทธิบอกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันโควิด ในกรณีเกิดผลการรับประกันตาม 3 เงื่อนไขดังนี้

1.อัตราความเสียหายจากการรับประกันโควิด ตั้งแต่ 400% ขึ้นไป หรือ

2.ค่าสินไหมจากการรับประกันโควิด ตั้งแต่ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือ

3.ค่าสินไหมจากการรับประกันโควิดเกินกว่า 10% ของเงินกองทุน

เสนอ 3 ทางเลือกเยียวยาลูกค้า

พร้อมกันนี้ทางสมาคมฯได้เสนอมาตรการในการเยียวยาให้กับผู้เอาประกันโควิด ที่ถูกบอกเลิกกรมธรรม์ โดยสามารถเลือกรับการเยียวยา 3 แนวทางดังนี้

1.ได้รับคืนเบี้ย 100% จากบริษัทประกันวินาศภัยที่ใช้สิทธิบอกเลิก แทนที่จะได้รับเบี้ยตามส่วนระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่

2.เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันโควิดฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วยขั้นสุดท้าย (ภาวะโคม่า) ด้วยทุนประกันภัย 5 เท่าของทุนประกันภัยในกรมธรรม์ประกันโควิดที่ถูกบอกเลิก

3.เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองด้วยทุนประกันภัย 10 เท่าของทุนประกันภัยในกรมธรรม์ประกันโควิดที่ถูกบอกเลิก

จี้บริษัทแก้ปัญหาอย่างมืออาชีพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ก็ได้ทำหนังสือถึง 16 บริษัทที่ขายประกันโควิด เพื่อให้เร่งวิเคราะห์ผลกระทบจากการรับประกันภัยโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” และทบทวนการบริหารความเสี่ยงและเงินกองทุนของบริษัท

นายอานนท์ระบุว่า เนื่องจากเงินที่บริษัทประกันภัยใช้ในการประกอบธุรกิจส่วนใหญ่มาจากเบี้ยประกันภัยทุกประเภท ซึ่งให้ความคุ้มครองกว่า 60 ล้านกรมธรรม์ หากการจ่ายสินไหมทดแทนจากประกันแบบเจอจ่ายจบ ส่งผลให้บริษัทประสบปัญหาความมั่นคงทางการเงิน ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันประเภทอื่น ๆ ในวงกว้างด้วย

หากผลการวิเคราะห์บริหารความเสี่ยงและเงินกองทุน สะท้อนว่าบริษัทไม่สามารถรับความเสี่ยงจากการรับประกัน “เจอจ่ายจบ” ได้อีกต่อไป และไม่สามารถหาแหล่งเงินเพิ่มเติมมารองรับได้ ขอให้บริษัทพิจารณาแก้ไข หรือหาทางยุติความเสี่ยงในอนาคตเยี่ยงผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ

หวั่นกระทบ ปชช.หลายสิบล้าน

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่สมาคมประกันวินาศภัยฯ เสนอขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวนั้น อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน โดยเห็นได้ชัดเจนในช่วงที่เกิดปัญหาการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเมื่อช่วงเดือน ก.ค. 64 ที่ผ่านมา การบอกเลิกในลักษณะ “เหมาเข่ง” จะมีเสียงสะท้อนต่อความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างมาก

อย่างไรก็ดีเมื่อบริษัทประกันวินาศภัยเดือดร้อน คปภ.ก็ต้องรับฟัง โดยขณะนี้บอร์ด คปภ.ได้รับทราบถึงปัญหาเบื้องต้นแล้ว แต่เห็นว่าต้องมีข้อมูลตัวเลขรายละเอียดและผลกระทบมาสนับสนุนเพิ่มเติม เพราะถ้าจะปรับปรุงหรือยกเลิกคำสั่งจะกระทบกับประชาชนผู้เอาประกันหลายสิบล้านคน

คปภ.จึงต้องระมัดระวังมาก และคงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการหามาตรการอื่นในการเยียวยา กับข้อเสนอให้ยกเลิกคำสั่งว่าแนวทางไหนจะมีผลกระทบมากกว่ากัน โดยสิ่งที่ คปภ.คำนึงถึงคือธุรกิจประกันต้องอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นของประชาชน

“เราต้องมาดูว่าบริษัทประกันไหนบ้างที่ได้รับผลกระทบ และแต่ละบริษัทได้รับผลกระทบแค่ไหน ควรจะใช้มาตรการผ่อนผันแบบเจาะเป็นรายบริษัท หรือออกมาตรการผ่อนผันแบบเหมาเข่ง” นายสุทธิพลกล่าว

คปภ.นัดถกด่วน 15 พ.ย.

โดย คปภ.เตรียมนัดประชุมสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทสมาชิกเข้าร่วมหารือในวันจันทร์ที่ 15 พ.ย. 64 ว่าจะมีวิธีการ หรือทางเลือกอื่น ๆ ให้ประชาชนหรือไม่ เพราะตอนนี้ข้อเสนอมีแค่แนวทางเดียวคือให้ยกเลิกคำสั่ง บอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด ซึ่งไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นควรจะเป็นแบบสมัครใจในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองหรือไม่ และหากประชาชนพอใจก็เป็นสิทธิของคู่สัญญาที่จะตกลงกัน

“ไม่ใช่อยู่ ๆ ไปบังคับบอกเลิกกรมธรรม์โควิดกับลูกค้าแบบนั้นคงไม่ได้ แต่ควรจะต้องให้ออปชั่น หรือมีมาตรการช่วยเหลือออกมาจะเหมาะสมมากกว่าจึงต้องมาคุยกันก่อน” เลขาธิการ คปภ.กล่าว

ขณะที่ปัจจุบันภาพรวมเบี้ยประกันภัยโควิดค่อนข้างนิ่งแล้ว ตั้งแต่ปี 63-64 เบี้ยประกันโควิดทั้งระบบประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ยอดเคลมเกือบ 3 หมื่นล้านบาท แต่คงต้องมาพิจารณาว่าแต่ละบริษัทจ่ายไปเท่าไร แต่ทราบแน่นอนแล้วว่า 3 บริษัทประกันที่ขายเจอจ่ายจบ และอนุมัติเข้ามาตรการเสริมสภาพคล่อง จ่ายเคลมสินไหมท่วมเบี้ยประกันไปแล้ว

นายสุทธิพลกล่าวเพิ่มเติมว่า คปภ.ก็กังวลว่าถ้าบริษัทมีปัญหาขาดสภาพคล่องและถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งแม้ลูกค้าจะได้เงินคืน แต่ก็ต้องรอประมาณ 4-5 เดือน กับแนวทางที่บริษัทประกันเสนอมา คปภ.ก็คงต้องชั่งน้ำหนัก แต่โดยส่วนตัวมองว่าให้สิทธิประชาชนเป็นคนเลือกดีที่สุด

สินมั่นคงขาดทุน 3.6 พันล้าน

นายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 3/64 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 3,662.39 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 160.21 ล้านบาท คิดเป็นกำไรลดลง 2,386.02% สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนขาดทุนสุทธิ 3,845.58 ล้านบาท

สาเหตุหลักมาจากมูลค่ายอดจ่ายเคลมสินไหมในไตรมาส 3/64 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่าสูงถึง 6,815.69 ล้านบาท ซึ่งมาจากยอดจ่ายเคลมสินไหมประกันภัยโควิด “เจอจ่ายจบ” มูลค่าสูงกว่า 6,002.91 ล้านบาท ผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด