กนง.เกาะติด 3 ปัจจัยเสี่ยง ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวสะดุด

เงินบาท-เศรษฐกิจไทย

ธปท.เปิดรายงานการปะชุมนโยบายการเงิน เผย เศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้ายังเปราะบางและไม่แน่นอน เกาะติด 3 ประเด็น “พัฒนาการระบาดโควิดหลังเปิดประเทศ-ความต่อเนื่องมาตรการรัฐ-การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้า” ยันโจทย์สำคัญดูแลการฟื้นตัวไม่ให้สะดุด

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงายนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 7/2564 โดยมีกรรมการที่เข้าร่วมประชุม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นางสาววชิรา อารมย์ดี นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์

โดยคณะกรรมการประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบางและไม่แน่นอน โดยต้องติดตาม (1) พัฒนาการของการระบาดหลังการเปิดประเทศ ซึ่งการฟื้นตัวและการจ้างงานในระยะถัดไปจะแตกต่างกันทั้งในมิติของธุรกิจและพื้นที่ โดยผลสำรวจผู้ประกอบการในประเทศพบว่าภาคการผลิต ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหารจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าภาคโรงแรมและการขนส่งผู้โดยสาร (2) ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ หลังจากมาตรการที่ออกมาในช่วงก่อนหน้าทยอยสิ้นสุดลง

และ (3) การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้า โดยหากราคา พลังงานโลกอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ หรือ global supply disruption ยืดเยื้อกว่าคาด หรือต้นทุน การผลิตหลายประเภทเพิ่มขึ้นพร้อมกัน อาจทำให้ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาสินค้าได้

ดังนั้น เห็นว่าโจทย์สำคัญของเศรษฐกิจ คือ การดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุดลง เนื่องจากเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย เช่น (1) การระบาดระลอกใหม่ที่อาจกลับมาหลังการเปิดประเทศ โดยเฉพาะความต้องการแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นอาจดึงดูดให้แรงงานต่าง ด้าวเข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมาย (2) ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และ (3) การส่งผ่าน ต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก หากราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งจะบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมการจะติดตามและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

โดยคณะกรรมการเห็นว่าที่ผ่านมามาตรการการคลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจทั้ง การเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ แม้แรงส่งจะลดลงบ้างหลังมาตรการการคลังทยอยสิ้นสุดลง แต่แรงส่ง ภาคการคลังยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อ GDP ทำให้ภาครัฐสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมได้ในกรณีจำเป็นในระยะต่อไป มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด และพิจารณาปรับสมดุลระหว่างการเยียวยาและฟื้นฟูโดยเน้นมาตรการฟื้นฟู และสร้างรายได้รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อมีความคืบหน้าต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัวของสินเชื่อ

โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน ซึ่งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้บางส่วน นอกจากนี้ คณะกรรมการเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 กันยายน 2564 ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ (uneven recovery) ส่งผลให้ตลาดแรงงานที่แม้จะเริ่มปรับดีขึ้นบ้างยังคงมีความเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับสูง และประมาณการ จำนวนผู้เสมือนว่างงานและผู้ว่างงานรวมกัน ณ สิ้นปี 2564 ที่คาดว่าจะมีถึง 3.4 ล้านคน

ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจและตลาดแรงงานควรตรงจุดมากขึ้น และเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects)

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นชั่วคราวตามราคาพลังงานโลก แต่ยังมีความเสี่ยงที่ราคาพลังงานโลกอาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด กรรมการบางส่วนกังวลว่าราคาพลังงานโลกอาจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในระยะยาว หากอุปสงค์พลังงานโลกเพิ่มขึ้นมากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หรืออุปทานพลังงานโลก ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด จากการลงทุนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ไม่เพียงพอหรือกระแสการปรับตัวของ ประเทศต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ หากราคาพลังงานโลกอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ จะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในประเทศ เนื่องจากกองทุนน้ำมันอาจมีข้อจำกัดในการดูแลกลไกราคา โดยหากราคาพลังงานซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิต เช่น น้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ ค่าไฟฟ้า ปรับสูงขึ้น ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ จะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ของผู้บริโภคและธุรกิจอาจปรับสูงขึ้นได้ คณะกรรมการจึงเห็นควรให้ติดตามแนวโน้มราคาพลังงานโลก รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะ 1 ปีข้างหน้า ณ เดือนตุลาคม 2564 ของผู้ประกอบการอยู่ที่ 1.9% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนตุลาคมที่ 2.4% สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.8% ซึ่งยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมายระยะปานกลางที่ 1-3%

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้า จากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

โดยคณะกรรมการเห็นว่าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้าตามปัจจัยภายใน ประเทศ ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาด ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าควรติดตามความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ

โดยเฉพาะทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน (policy divergence) ซึ่งอาจกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย อัตราแลกเปลี่ยน และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยป้องกันความเสี่ยง จากอัตราแลกเปลี่ยน (hedging) เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยสัดส่วน hedging ของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นจาก ต้นปีที่ 25% เป็น 35% ณ ตุลาคม 2564 แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ นอกจากนี้ ยังพบว่าต้นทุน hedging

โดยรวมปรับลดลง แต่ผู้ประกอบการรายเล็กมีต้นทุนนี้สูงกว่ารายใหญ่ คณะกรรมการจึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน


คณะกรรมการยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการจะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการระบาดหลังการเปิดประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น