ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับเจอโรม พาวเวลล์ ได้รับเสนอชื่อดำรงตำแหน่งประธานเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/11) ที่ระดับ 33.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/11) ที่ระดับ 33.07/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ได้รับแรงหนุนจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสมัยที่ 2

ซึ่งตลาดมีความเชื่อมั่นต่อนายพาวเวลล์ จากที่ผ่านมานายพาวเวลล์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถรักษาความเป็นอิสระของเฟด ดำเนินนโยบายตามความเหมาะสม เป็นอิสระจากแรงกดดันทางการเมือง อีกทั้งตลาดยังมองว่าเฟดจะดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจตามที่เคยชี้แจงไว้ และมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงกลางปี 2565

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่เปิดเผยคืนวานนี้ (23/11) ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.1 ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 58.4 ในเดือนตุลาคม ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 57.0 ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 58.7 ในเดือนตุลาคม โดยดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังคงแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.19-33.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้า (24/1) ที่ระดับ 1.1240/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/11) ที่ระดับ 1.1260/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรถูกแรงกดดันจากความเชื่อมั่นนักลงทุนหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศในยุโรปเริ่มกลับมาระบาดหนักอีกครั้งจนส่งผลให้มีมาตรการล็อกดาวน์ในบางประเทศ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยได้แก่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเยอรมนี อยู่ที่ระดับ 57.6 ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ระดับ 57.8 ส่วนดิจิทัล PMI ภาคการผลิตของยูโรโซน อยุ่ที่ระดับ 58.6 ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ระดับ 58.3 โดยดัชนีอยู่เหนือระดับ 50.0 บ่งบอกว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางขยายตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1236-1.1252 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1234/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/11) ที่ระดับ 115.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/11) ที่ระดับ 114.75/77 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ที่พุ่งขึ้นมาอยู่ระหว่าง 1.66% เป็นการกดดันค่าเงินเยนอีกด้วย

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีการเปิดเผยได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 54.2 ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ระดับ 53.2 ส่วนดัชนี PMI ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 52.1 ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ระดับ 50.7 โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังขยายตัวจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงอย่างมากในช่วงนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.84-115.15 เยน/ดอลลาร์สหัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.91/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (24/11), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ ประจำเดือนตุลาคม (24/11), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐ ประจำไตรมา 3 (24/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประจำเดือนพฤศจิกายน (24/11), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ ประจำเดือนตุลาคม (24/11), รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (25/11), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเยอรมนี ประจำไตรมาส 3 (25/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศ 1/1.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.45/1.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ