“ภากร” ดันเปิด LiVE Exchange ตลาดหุ้น “เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ” ต้นปี’65

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อปี’65 “สตาร์ตอัพ-เอสเอ็มอี” ฟื้น จ่อเปิด “LiVE Exchange” ต้นปีหน้า มั่นใจช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “ตลาดหุ้นไทยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี’65” ว่า ในปีหน้า จะเปิดให้บริการ LiVE Exchange ที่เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ ซึ่งปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังทำงานร่วมกัน เพื่อให้ตลาดนี้ออกมาได้ในต้นปีหน้า ซึ่งตรงนี้จะเป็นอีกบทบาทของตลาดทุนที่เป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ หลาย ๆ ภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัวในปี 2564 น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะภาคโรงแรมและการท่องเที่ยว หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนได้ครบถ้วนมากขึ้น จากที่ในปีนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัวในลักษณะที่เรียกว่า K shape คือ บางภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวดี อาทิ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม เกษตรและอาหาร เป็นต้น แต่บางอุตสาหกรรมอาจจะยังไม่ฟื้นตัว อาทิ ภาคการเงิน ภาคธนาคาร ภาคประกัน อสังหาริมทรัพย์ ทรัพยากร สินค้าอุปโภคบริโภค การโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นต้น

“ผมเชื่อว่า เศรษฐกิจที่เป็นสตาร์ตอัพ และเอสเอ็มอี จะเริ่มกลับมา โดยสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังทำงานร่วมกันเพื่อให้ตลาดนี้ออกมาเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทเล็ก ๆ สตาร์ตอัพ เอสเอ็มดี ได้ในต้นปีหน้า อันนี้ผมคิดว่าตรงนี้จะทำให้ตลาดทุนเป็นส่วนที่ช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วขึ้น” นายภากรกล่าว

นายภากรกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยทำหน้าที่ได้ดีในการเป็นแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบกิจการ และเป็นช่องทางการลงทุนของนักลงทุน โดยมีมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) เกือบ 20 ล้านล้านบาทแล้ว เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศไทย จะอยู่ที่ 1.2 เท่า ของจีดีพี

ทั้งนี้ ในปี 2563 มีการระดมทุนในตลาดแรก (IPO) ถึง 1.6 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับ 8 ในโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ตามหลังแค่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ 1 ในอาเซียนมาหลายปี ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงสมรรถภาพ ความสามารถในการระดมทุนของตลาดหุ้นไทยตอนนี้ ติดระดับโลก และในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่า IPO มากกว่า 1.2 แสนล้านบาทแล้ว

ขณะที่การระดมทุนในตลาดรอง (SO) ก็มีมากกว่า 1 แสนล้านบาท และในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวนการระดมทุนมากกว่าตลาดแรกประมาณ 4-5 เท่า ซึ่งแต่ละปีจะมี IPO ประมาณ 40-50 บริษัท แต่การระดมทุนผ่านตลาดรองจะมีกว่า 200 รายการ

นอกจากนี้ ยังมีตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีมูลค่าเกือบ 4 ล้านล้านบาท ตราสารหนี้ภาครัฐ มูลค่าประมาณ 11 ล้านล้านบาท และสินเชื่อธนาคารพาณิชย์มีถึง 18 ล้านล้านบาท

“3 แหล่งระดมทุนนี้ เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 ตลาด มีความเข้มแข็งมาก ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นตัวที่ทำให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุน และเจริญเติบโตได้” นายภากรกล่าว

ส่วนในด้านช่องทางการลงทุนนั้น ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีนักลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนบัญชีในปี 2563 และ เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.4 ล้านบัญชีในปี 2564 ช่วง 3 ไตรมาสแรก (ม.ค.-ก.ย. 2564) แสดงให้เห็นว่า มีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ

“สภาพคล่องของตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน มูลค่าดังกล่าวสูงที่สุดในอาเซียน และปัจจุบันค่อย ๆ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โตขึ้นเกือบ 3 เท่า ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันการลงทุนก็มีความหลากหลายมากขึ้น” นายภากรกล่าว