คลังรุกเก็บภาษีขายหุ้น 0.1% เขย่านักลงทุน 2 ล้านบัญชี-โปะรายได้รัฐ

เงินบาท-ตลาดหุ้น

คลังซุ่มเดินแผนเก็บภาษีขายหุ้น 0.1% สำหรับขาใหญ่มูลค่าซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน เล็งกวาดรายได้เข้ารัฐ 6-7 พันล้านบาท อุดฐานะการคลัง ชี้เป็นแผนปฏิรูปภาษี-สร้างความเป็นธรรม ฟากตลาดทุนรุมค้าน “ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย” หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย ชี้นักลงทุนอาจหนีไปตลาดอื่น ส่งผลกระทบแหล่งระดมทุน-แหล่งออมของประเทศ สะเทือนนักลงทุนตลาดหุ้นไทย 2 ล้านบัญชี

คลังเก็บภาษีขายหุ้น 0.1%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาการจัดเก็บ “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” สำหรับกิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ (transaction tax) ซึ่งตามกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กำหนดให้เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี ในอัตราภาษี 0.1% ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย แต่ที่ผ่านมา มีการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นการจัดเก็บมาตั้งแต่ปี 2534 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับกิจการขายหลักทรัพย์ในขณะนั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน กระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องหารายได้เข้ามาเพิ่ม เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก ขณะที่การปรับขึ้นอัตราภาษีต่าง ๆ ยังทำไม่ได้ในช่วงที่ต้องประคับประคองเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ transaction tax เป็นการเก็บภาษี 0.1% จากมูลค่าการขายหุ้น และเฉพาะนักลงทุนที่มีมูลค่าการซื้อขายเกิน 1 ล้านต่อเดือน โดยกระทรวงการคลังมีความพยายามที่จะมีการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการปรับปรุงระบบภาษีเพื่อเกิดมีความเป็นธรรม ซึ่งในหลายประเทศก็มีการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้

“เรื่องนี้กำลังพิจารณากันอยู่ มีการดูตัวอย่างในต่างประเทศ อย่างเช่น ฮ่องกง ที่เก็บภาษีลักษณะนี้อยู่ สำหรับไทยถ้าจัดเก็บน่าจะได้รายได้เข้ามาปีละ 6-7 พันล้านบาท แต่ขึ้นกับวอลุ่มการขายหุ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันพอไม่มีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) แล้ววอลุ่มจึงไม่ค่อยมาก” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ได้ออกมายอมรับว่า กระทรวงการคลังเตรียมเก็บภาษีขายหุ้นแก่นักลงทุนที่มีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน

โดยระบุว่าอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนแผนปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ในระยะยาว ซึ่งเรื่องภาษีขายหุ้นก็เป็นหนึ่งในกรมสรรพากรศึกษา โดยวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาของกรมคือ ต้องการปรับปรุงระบบภาษีเพื่อเกิดมีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันได้ และเป็นแนวทางการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลอย่างยั่งยืน

รายได้รัฐ “บักโกรก”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ช่วงปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก โดยปีงบประมาณ 2563 เก็บต่ำกว่าเป้าถึง 336,924 ล้านบาท เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

และการดำเนินนโยบายและมาตรการทางภาษีของรัฐบาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย จากอัตรา 3 เหลือ 1.5% เป็นต้น ทำให้ในปีดังกล่าวรัฐบาลต้องกู้ชดเชยขาดดุลรวมแล้ว 784,115 ล้านบาท

ส่วนปีงบประมาณ 2564 การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าไป 307,074 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และการชะลอการปฏิรูปภาษีออกไปก่อน ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้ชดเชยการขาดดุลทั้งสิ้น 736,392 ล้านบาท

ขณะที่เดือน ต.ค. 2564 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจัดเก็บสุทธิได้ 194,336 ล้านบาท แม้ภาพรวมรายได้ที่จัดเก็บได้ยังสูงกว่าประมาณการ 10,868 ล้านบาท แต่พบว่าการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตออกมาต่ำกว่าประมาณการ 7,703 ล้านบาท หรือต่ำกว่าประมาณการ 17.2% เนื่องจากประมาณการได้รวมผลของการปรับโครงสร้างภาษีไว้

เมื่อชะลอการดำเนินการออกไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้ชดเชยขาดดุลถึง 82,000 ล้านบาท ในเดือนแรกของปีงบประมาณ สำหรับเงินคงคลังขณะนี้ลดลงเหลือ 305,973 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 136,192 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 30.8%

สถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหารายได้จากแหล่งอื่น ๆ เข้ามาชดเชย อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังพยายามพิจารณาหาทางเลือกที่ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจ และประชาชนน้อยที่สุด

สภาตลาดทุนค้าน-ได้ไม่คุ้มเสีย

ขณะที่นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลจะเก็บ transaction tax เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการซื้อขายหุ้นไทยของนักลงทุน

โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่อาจตัดสินใจเลือกไปลงทุนในตลาดหุ้นอื่นแทนหรือแม้แต่นักลงทุนไทยก็อาจจะมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อาจเลือกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันที่เริ่มมีความคุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นแล้ว

“ต้องเข้าใจว่าตลาดหุ้นมีไว้เพื่อให้ธุรกิจเข้ามาระดมทุน เพื่อนำเงินที่ได้ไปผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโต ดังนั้นตลาดหุ้นจะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ อะไรก็ตามที่ทำให้ต้นทุนนักลงทุนสูงขึ้นในช่วงที่เรายังต้องการพัฒนาตลาดทุน และต้องการจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติตามที่นายกรัฐมนตรีอยากเห็น อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย แม้ว่าภาษีจะเก็บได้เพิ่ม แต่จะเสียหายด้านการพัฒนาตลาดทุนได้

เพราะวันนี้คนออมเงินในตลาดหุ้นมีแค่ 2 ล้านบัญชีเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังน้อย การจะทำอะไรกับตลาดหุ้น ต้องคิดหน้าคิดหลัง เพราะหากกระทบทำให้ทั้งผู้ออมและผู้ระดมทุนรู้สึกว่าไม่คุ้มค่า บทบาทของตลาดทุนในการทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนและเป็นแหล่งเงินออมของประเทศจะถูกบั่นทอนลง” นายไพบูลย์กล่าว

เก็บภาษีคริปโทไม่กระทบ ศก.

ส่วนที่มีการพูดกันถึงการจัดเก็บภาษีการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี นายไพบูลย์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าตอนนี้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ยังไม่ใช่ที่ระดมทุนของภาคธุรกิจ และไม่ใช่ที่ออมเงินระยะยาวของประชาชน ยังเป็นแค่การเล่นเก็งกำไร และยังมองไม่ออกว่ามีส่วนช่วยระดมทุนได้มากน้อยแค่ไหน จึงต้องแยกกันระหว่างบทบาทของตลาดทุนกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

“ต้องแยกระหว่างบทบาทตลาดทุนที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ และตลาดคริปโทเคอร์เรนซี โดยหากจะจัดเก็บภาษีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจมีไม่มาก” นายไพบูลย์กล่าว

หวั่นกระทบออกโปรดักต์ใหม่

แหล่งข่าวจากตลาดทุน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากรัฐบาลเก็บ transaction tax จะส่งผลกระทบการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดทุน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีผู้รับประกัน (underwriter) เนื่องจากจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาษีที่ถูกเรียกเก็บ

“เวลาออกโปรดักต์ใหม่ ๆ ช่วงแรกส่วนใหญ่ก็จะขาดทุน เพราะยังไม่ติดตลาด ซึ่งหากมีภาษีเข้ามาเพิ่มต้นทุนอีก ก็คงไม่มีใครอยากออกโปรดักต์ใหม่ ๆ” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หากจะไปเทียบเคียงกับประเทศที่เก็บ transaction tax อยู่อย่างฮ่องกง ต้องพิจารณาด้วยว่า ฮ่องกงจะเก็บภาษีเพียงประเภทใดประเภทหนึ่ง ส่วนกรณีของไทย ปัจจุบันมีการเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้น (capital gain tax) ในกรณีที่เป็นนักลงทุนสถาบัน ดังนั้น จึงต้องดูว่าจะเป็นการทำให้ภาพรวมภาษีของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งหรือไม่ ซึ่งอาจจะกระทบในแง่การแข่งขันได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การยกเว้นภาษีดังกล่าวเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 โดยมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการ 37 ประเภท

และกิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ เป็น 1 ใน 37 กิจการที่ได้รับการยกเว้น มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2534 เหตุผลเพื่อบรรเทาภาระภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการขายหลักทรัพย์