อาคม พร้อมออกมาตรการภาษีพัฒนาตลาดทุนไทย เพิ่มโอกาสเอสเอ็มอี

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง พร้อมออกมาตรการภาษีพัฒนาตลาดทุนไทย เพิ่มโอกาสเอสเอ็มอี เผยช่วงวิกฤตโควิดออกมาตรการลดหย่อนภาษีนำเข้าชุดตรวจ ATK รวมทั้งมาตรการการเงิน-คลัง ช่วยเหลือเอสเอ็มอี

วันที่ 14 กันยายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SMEs/Startups ยกระดับขีดความสามารถและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในงาน LiVE Demo Day : The Naw Road to Capital Market ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โควิดส่งผลกระทบทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยรัฐบาลก็มีมาตรการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันก็ดูแลผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย ทั้งการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจากการแพร่ระบาดดังกล่าวส่งผลให้รายได้ในประเทศหายไปจำนวนมาก ทั้งในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ภัตตาคาร เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปีนี้ ยังแสดงให้เห็นเทรนด์ที่ดีขึ้น แม้ว่านักวิเคราะห์คาดว่าเมื่อการระบาดของโควิดรอบที่ 2-3 จะทำให้เศรษฐกิจไทยไปไม่รอด แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โตถึง 7.5% และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสก็ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะไม่แข็งแรงมาก ขยายตัวศูนย์กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังกลับมา

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพร้อมช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดนี้ กระทรวงการคลังก็ช่วยสนับสนุนลดหย่อนภาษีนำเข้าชุดตรวจ ATK พร้อมกับหักค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจ ATK ของบริษัทต่าง ๆ เพื่อเป็นการลดภาระให้กับผู้ประกอบการ ขณะที่ส่วนของมาตรการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ภายใต้แผนงานการพัฒนาตลาดทุนไทย หากมีส่วนใดที่มาตรการภาษีสามารถช่วยได้ กระทรวงการคลังยินดีที่จะช่วย เพื่อเพิ่มช่องทางให้ทุกคนได้รับโอกาสในเรื่องเศรษฐกิจระดับพื้นฐาน หรือระดับฐานราก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐได้พยายามผ่อนปรน อย่างเช่น การผ่อนคลายล็อกดาวน์วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความสมดุลให้กับสุขภาพและเศรษฐกิจ รวมทั้งได้มีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี กรณีที่มีลูกจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ส่วนกรณีแรงงานนอกระบบ ก็มีการเปิดให้มาลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ ซึ่งการเปิดให้ลงทะเบียนนั้นทำให้รัฐสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที

พร้อมกันนี้ ยอมรับว่าผลกระทบของเอสเอ็มอีนั้นสาหัส โดยมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีหลัก ๆ จะเป็นเรื่องของสถาบันการเงิน ซึ่งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งได้ออกพ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. วงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันมีการเบิกจ่ายแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอีแล้ว 3 หมื่นราย และในปี 2563 ที่ผ่านมา ก็มี พ.ร.ก.ซอฟต์โลน โดยช่วยเอสเอ็มอีไปกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อช่วยธุรกิจที่ปิดกิจการชั่วคราว ปัจจุบันให้บริการไปแล้ว 74 ราย มูลค่ารวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินรวม 1 แสนล้านบาท

นายอาคมกล่าวว่า ถือว่ามาตรการสถาบันการเงินเป็นด้านหลักในการช่วยเอสเอ็มอี แต่หากมองในเรื่องตลาดทุน ซึ่งบริษัทที่มีธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง สามารถมาร่วมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ได้ และอีกส่วนหนึ่งคือพอร์ต mai ซึ่งเปิดให้เพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม การที่จะเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีกฎที่เข้มงวด โดยเฉพาะความโปร่งใสในเรื่องระบบข้อมูล การบันทึกบัญชีต่าง ๆ ต้องมีความชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนที่เอสเอ็มอีจดทะเบียนถูกต้อง แต่ยังขาดองค์ความรู้ เงื่อนไข ที่จะเข้ามาในระบบดังกล่าว

“ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ซึ่งในแผนการพัฒนาตลาดทุนไทย ปี 2560-2564 ก็ครอบคลุมเรื่องการใช้ตลาดทุนเป็นช่องทางเชื่อมระหว่างนักลงทุน หรือผู้มีเงินออม กับผู้ที่ต้องการเงินทุน ซึ่งหากพูดถึงการระดมทุนของเอสเอ็มอี โดยมีพอร์ต mai นั้น ยังมีกฎกติกา โดยเอสเอ็มอียังไม่ค่อยคุ้นเคย ส่วนนี้ตลท. และ ก.ล.ต. ก็มีแผนให้องค์ความรู้กับผู้ประกอบการ เหล่านี้ และในวันนี้ ตลท. ก็ได้แนะนำ Live Platform เพื่อให้ความรู้และโอกาสเอสเอ็มอีก่อนจดทะเบียน เพื่อเข้าไปซื้อขายใน ตลท.”

ทั้งนี้ สำหรับการเป็นเอสเอ็มอีที่มีโอกาส จะต้องทราบว่าทิศทางของประเทศ โดยต้องพิจารณานโยบายของรัฐจะมุ่งเน้นไปอย่างไร ซึ่งทิศทางที่จะเดินไปในอนาคตมีอยู่ 2-3 เรื่อง ได้แก่ 1.Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ 2.เศรษฐกิจหมุนเวียน และ 3.ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม