ตลาดทุนชงเว้นภาษีโทเค็น 27% คลังรับศึกษา-“จัตุมงคล” จี้คุมเฟียตมันนี่-

ตลาดทุนชงคลังเว้นภาษีนิติบุคคล-VAT รวม 27% ให้ผู้ระดมทุนออกโทเคนดิจิทัล อ้างแบกภาระภาษีสูง สรรพากรโต้ภาษีไม่สูงเท่าเอกชนโวย เหตุคิดภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิไม่ใช่รายรับ แถมคิด VAT จากส่วนต่าง ยันต้องเก็บผู้ระดมทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเหตุไม่ใช่หุ้น-ป้องกันหลอกลวง ฟากอธิบดีตั้งทีมศึกษาก่อน ด้าน “ม.ร.ว.จัตุมงคล” จี้ ธปท.ตั้งหน่วยงานกำกับเฟียตมันนี่ที่ไม่ใช่เงินบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนได้เสนอให้กรมสรรพากรพิจารณายกเว้นภาษีให้แก่ผู้ที่ออกโทเค็นดิจิทัล ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% เช่นเดียวกับการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน เนื่องจากตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2561 ไม่ได้ยกเว้นภาษีดังกล่าวให้ ซึ่งทางตลาดทุนมองว่าสร้างภาระต้นทุนแก่ผู้ระดมทุนอย่างมาก

“นักลงทุนในตลาดหุ้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เห็นว่า การออกโทเค็นดิจิทัลก็คล้ายกับการ IPO หุ้น ซึ่งหากเก็บภาษีตั้งแต่ท่อนแรก ภาระภาษีก็จะสูงถึง 27% คือ ภาษีนิติบุคคล 20% และ VAT อีก 7% ก็เลยอยากให้ยกเว้น แต่คงคิดแบบนั้นไม่ได้เพราะการเสียภาษีคิดจากกำไรสุทธิ ไม่ใช่จากรายรับ รวมถึง VAT ก็เก็บจากส่วนต่าง ดังนั้น จึงไม่ใช่ 27% และที่สำคัญโทเค็นดิจิทัลก็ไม่ใช่หุ้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมสรรพากรก็รับมาศึกษาอยู่” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การที่กำหนดให้เก็บภาษีผู้ระดมทุนตั้งแต่ต้นทางนั้น เนื่องจากกระทรวงการคลังมี
นโยบายควบคุมธุรกิจนี้ เพื่อป้องกันเรื่องการหลอกลวงประชาชนด้วย

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การพิจารณาว่าจะยกเว้นภาษีหรือไม่ขึ้นอยู่กับกรมสรรพากรเป็นผู้พิจารณา

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอให้ยกเว้นภาษีให้กับผู้ระดมทุนโดยการออกโทเค็นดิจิทัลนั้น ทางกรมสรรพากรคงต้องพิจารณารายละเอียดทั้งหมดก่อน ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะยกเว้นให้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งทีมศึกษาข้อเสนอให้ปรับปรุงประมวลรัษฎากร โดยที่คณะกรรมการปฏิรูปมีข้อเสนอให้ลดภาษีบุคคลธรรมดาลงอีกนั้นจะต้องศึกษาในหลายมิติ

นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเก็บรายได้ภาษีปีงบประมาณ 2561 นี้ น่าจะไม่ต่ำกว่า 1.86 ล้านล้านบาทแน่นอน เนื่องจากกรมได้มีการนำระบบ Big Data มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากประเทศไทยมีการเก็บภาษีผู้ออกโทเค็นดิจิทัล คงจะทำให้ไม่มีผู้ออกในประเทศไทย แล้วหนีไปออกต่างประเทศ แต่สิ่งที่ตนมองประเด็นที่สำคัญของเรื่องนี้ คือ fiat money (เงินที่หมุนเวียนอยู่ในกระดาษเหล่านี้) รัฐบาล หรือ ธปท.จะกำกับดูแลอย่างไร เพราะทุกวันนี้ สิ่งที่ ธปท.คุม คือ ทำได้เพียงในส่วนที่เป็นเงินบาท แต่ส่วนที่ไม่ใช่เงินบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่อยู่ในสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ที่ออกมาขายทั้งในไทยและต่างประเทศที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุนนั้น ทั้ง ธปท.และรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมเงินในส่วนนี้ได้ ขณะที่มูลค่าของตัวสินทรัพย์ดิจิทัลนี้ก็ไม่ใช่ตัวสินค้า

“ดังนั้น ผมเห็นว่า ธปท.จำเป็นต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะในส่วนที่ไม่ใช่เป็นเงินบาท เพราะเมื่อพูดถึง
ดิจิทัลมันนี่ มันต้องมีแวลูที่จะ transfer แล้ว fiat money ซึ่งไม่ใช่เงินของทางการ หากวันหนึ่งเอกชนเป็นคนกำหนดกันเอง ผมเพียงแต่ถามว่า เวลาเขาไม่ได้ใช้เงินบาท แล้วคุณจะทำยังไง ถ้าเขาใช้เหรียญครีเอตขึ้นมา ซึ่งผมก็รอดูสหรัฐกับจีนจะออกมาบอกไม่ให้มีพวกนี้ (สินทรัพย์ดิจิทัล) แต่ผมว่ามันช้าไปแล้ว คุมไม่อยู่แน่ และห้ามก็ไม่สำเร็จแล้ว เพราะ fiat money มันเกิดขึ้นแล้ว” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”