7 ยักษ์เปิดศึกชิงดิจิทัลพีโลน KTC-SCB ท้าชนแกร็บ-ช้อปปี้

แบงก์ชาติเผย 7 ยักษ์โดดร่วมสมรภูมิ “สินเชื่อบุคคลดิจิทัล” ปล่อยกู้คนตัวเล็กไม่เกิน 4 หมื่นบาท แบงก์ “เคทีซี-เอสซีบี-แกร็บ” แจมตลาดต้นปี’65 “ทรู-ช้อปปี้” ชิงนำร่อง 4.16 แสนบัญชี 2 พันล้าน ชี้ปี’65 แข่งเดือด-กดดอกเบี้ยลงต่ำกว่า 25% “เคแบงก์” ลดเสี่ยงไม่ให้ถอนเงินสด ชู “K Pay Later” ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง

7 ยักษ์ร่วมวง “ดิจิทัลพีโลน”

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ ธปท.ได้เปิดให้ใบอนุญาตบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” (digital personal loan) ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่าจนถึงขณะนี้ได้มีการพิจารณาอนุมัติไปแล้ว 7 ราย

ทั้งนี้ มี 4 รายที่ดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อแล้ว ได้แก่ 1.บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด ในเครือ SEA GROUP และช้อปปี้ อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ 2.บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ในกลุ่มทรู 3.บริษัท แรบบิท แคช จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อิออน ธนทรัพย์ (ไทยแลนด์) กับ “แรบบิท กรุ๊ป” ในเครือบีทีเอส และ 4.ธนาคารกสิกรไทย

ส่วนอีก 3 ราย ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติตามที่ ธปท.กำหนดแล้วยังไม่ได้เปิดให้บริการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเทคโนโลยีและโมเดล ประกอบด้วย 1.บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด บริษัทในเครือแกร็บ ไฟแนนเซียล กรุ๊ป ประเทศไทย

2.บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี และ 3.บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ในเครือธนาคารไทพาณิชย์ ซึ่งหากทั้ง 3 บริษัทพัฒนาระบบเทคโนโลยีเป็นตามที่กำหนดคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในต้นปี 2565 นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการสนใจยื่นขออนุญาตเข้ามาอีกหลายราย

“3 รายที่อยู่ระหว่างรอยืนยันระบบ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะต้องบอกว่าใช้ข้อมูลทางเลือกอะไร ในการพิจารณาการปล่อยเงินกู้ และกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ซึ่งความคาดหวังของแบงก์ชาติก็ต้องการเปิดโอกาสให้กลุ่มที่เข้าไม่ถึงระบบของธนาคารพาณิชย์มาใช้บริการ”

หวังกดดอกเบี้ยต่ำกว่า 25%

นางรุ่งกล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการ 4 รายที่ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อไปแล้ว ปัจจุบันมียอดการปล่อยสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท และจำนวนบัญชีอยู่ที่ 4.16 แสนบัญชี โดยสินเชื่อส่วนใหญ่ยังคงมาจากบริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) และบริษัท แอสเซนด์ นาโน เนื่องจากเปิดดำเนินการก่อนตั้งแต่ไตรมาสแรก

ทั้งนี้ แม้จะมองว่ายอดสินเชื่อจะไม่สูงมาก และเป็นส่วนน้อยของระบบ เนื่องจากเป็นสินเชื่อรายย่อย ขนาดวงเงินน้อยซึ่งตามข้อกำหนดของแบงก์ชาติปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย ต้องชำระคืนภายใน 6 เดือน (ในช่วงโควิดมีการเพิ่มวงเงินเป็นไม่เกิน 40,000 บาท ชำระคืนภายใน 12 เดือน) รวมถึงเป็นการปล่อยกู้โดยใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น ประวัติการชำระค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ข้อมูลซื้อขายออนไลน์

“คาดว่าปีหน้าการแข่งขันในตลาดนี้จะมีความรุนแรงมากขึ้น ตอนนี้มีผู้ประกอบธุรกิจทั้งแบงก์และน็อนแบงก์เข้ามา เราหวังว่าเมื่อมีผู้ประกอบธุรกิจมากขึ้น จะเกิดการแข่งขัน ซึ่งสิ่งที่เราอยากเห็นคือ มีการแข่งขันทำให้ลดดอกเบี้ย ไม่ค้างอยู่ที่เพดาน 25% แม้ว่าส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและความเสี่ยงของลูกค้า แต่ถ้ามีคนแข่งขันมากขึ้น คนที่มีความเสี่ยงน้อยในอนาคตจะจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดาน”

“เคทีซี” ศึกษาข้อมูลทางเลือก

ด้าน นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เคทีซีได้รับการอนุมัติให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลดิจิทัลจาก ธปท. เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา

ตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบไอทีและเตรียมความพร้อมระบบตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัคร การคัดกรองลูกค้า ขั้นตอนโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าหลังได้รับอนุมัติสินเชื่อ การเบิกถอนเงินของลูกค้า และการชำระเงินคืนของลูกค้า ซึ่งทุกขั้นตอนจะทำบนดิจิทัลทั้งหมด คาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

“แรบบิท” ตั้งเป้าปีแรก 2 พันล้าน

นางสาวรัชนี แสนศิลป์ชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แรบบิท แคช จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทวางแผนให้บริการสินเชื่อภายในไตรมาส 1 ปี 2565 เบื้องต้นจะนำเสนอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย หรือสินเชื่อนาโนควบคู่กับสินเชื่อสวัสดิการ สินเชื่อ Pay Day Loan สินเชื่อผ่อนชำระ Buy Now, Pay Later และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ จะให้บริการในไตรมาสถัดไป

กลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ พนักงานเงินเดือนที่ใช้ HR Solution ของฮิวแมนิก้า โดยคาดว่าปีหน้าจะปล่อยสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท และมีลูกค้าราว 3-5 หมื่นราย

“แรบบิท แคช เราจะพิจารณาสินเชื่อโดยใช้ข้อมูลทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการใช้จ่ายมาพิจารณาความเสี่ยง เป็นตัวกำหนดวงเงินสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ โดยการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ก่อนจะใช้มาพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ”

SCB-KBANK ร่วมสมรภูมิ

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างวางแผนผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปี 2565 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทใช้ข้อมูลทางเลือกต่าง ๆ ในการประเมินความเสี่ยงลูกค้าในการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับธนาคารกสิกรไทย หลังจากได้รับการอนุมัติจาก ธปท.ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อดิจิทัลพีโลนเมื่อเดือน พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ “K Pay Later” ซึ่งเป็นวงเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการเท่านั้น ไม่อนุญาตเบิกถอนเป็นเงินสด

โดยวงเงินสูงสุด 2 หมื่นบาท ผ่อนชำระนานสุด 5 เดือน โดยแจ้งว่าลูกค้าไม่จำเป็นต้องใช้สลิปเงินเดือน ไม่ต้องยื่นเอกสาร ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน ไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ คิดอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกสูงสุดไม่เกิน 25% ต่อปี

ทั้งนี้ ธนาคารเน้นลูกค้ารายใหม่และคนตัวเล็กที่เข้าไม่ถึงการเงิน โดยพิจารณาใช้ข้อมูลทางเลือกในการอนุมัติ เช่น ดูประวัติการซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ของลูกค้า หรือการเดินบัญชีธนาคาร เป็นต้น โดยสมัครง่ายได้ทุกที่ผ่าน K PLUS อนุมัติไวสุดภายใน 3 นาที

แข่งเดือด-แบงก์แห่ร่วมวง

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากดูแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารในปี 2565 จะเห็นว่าธนาคารวิ่งหาสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น เนื่องจากปีหน้าเศรษฐกิจเริ่มผ่อนคลาย ความเสี่ยงทางด้านเครดิตลดลง ทำให้ธนาคารจะหันมาเน้นสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น เพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบสินเชื่อรายใหญ่

ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ถือเป็นธุรกิจที่ทุกธนาคารพยายามไป เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าที่ไม่ได้เดินเข้าสาขา แต่ยังมีความต้องการสินเชื่อ ดังนั้น ทุกธนาคารต้องเดินไปทางนี้ ทำให้เกิดช่องทางการปล่อยสินเชื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี หากดูเฉพาะตลาด “สินเชื่อบุคคลดิจิทัล” ในนิยมของ ธปท. ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติไปแล้ว 7 ราย และเริ่มดำเนินการไปแล้ว 4 ราย มียอดสินเชื่อราว 2,000 ล้านบาท โดยศูนย์วิจัยฯ

คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีนี้ยอดสินเชื่อน่าจะจบอยู่ที่ 3,900 ล้านบาท และขยับเพิ่มขึ้นเกินหลักหมื่นล้านบาทภายในปี 2565 เนื่องจากหากดู 3 รายใหม่ที่ได้รับอนุมัติมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มแบงก์ ซึ่งหากเริ่มดำเนินธุรกิจจะช่วยดันยอดสินเชื่อให้เติบโตเพิ่มขึ้น