จับตาเฟด “ลดงบดุล-ขึ้นดอกเบี้ย” ดันโฟลว์ไหลออก กดเงินบาทอ่อนค่า

เฟด
FILE PHOTO : REUTERS/Andrew Kelly

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 33.40-34.00 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “นโยบายเฟดลดงบดุล-ขึ้นดอกเบี้ย-การระบาดของโอมิครอน” กดดันเงินบาทอ่อนค่า ด้าน “กรุงไทย” ชี้ นักลงทุนแห่ cut loss ดันเงินทุนไหลออก คาดโอกาสบาทแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์ เห็นฟันด์โฟลว์ไหลออกราว 2 หมื่นล้านบาท

วันที่ 9 มกราคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 10-14 มกราคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.40-34.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยทิศทางยังคงเห็นค่าเงินบาทผันผวนค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นหลัก โดยเฉพาะนโยบายเรื่องการลดงบดุล และการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อตลาดการเงิน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ จะเป็นตัวเลขความเชื่อมั่นนักลงทุนของฝั่งยุโรป โดยตลาดคงติดตามเหตุการณ์โอมิครอนในยุโรป ซึ่งคาดว่าถึงจุดพีกแล้ว ส่งผลให้ตัวเลขความเชื่อมั่นน่าจะดีขึ้น รวมถึงตัวเลขภาคการผลิตน่าจะออกมาค่อนข้างดี ทำให้ซัพพอร์ตค่าเงินยูโรได้

สำหรับในส่วนของตัวเลขฝั่งสหรัฐ ที่สำคัญจะเป็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม หากตัวเลขออกมาสูงจะทำให้นโยบายลดงบดุลของเฟดสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากเฟดมีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะยิ่งทำให้ตลาดมีความผันผวน

“ในมุมสถานการณ์โอมิครอนในต่างประเทศมองว่าเคสผู้ติดเชื้อแม้จะเยอะ แต่ยังคงรับมือได้ แต่ในส่วนของไทยยังคงต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากรัฐบาลมีการประกาศมาตรการควบคุมการระบาด และลิมิตกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่าง มองว่าเศรษฐกิจคงไม่ได้ชะลอตัวลงมาก จึงมองว่าโอกาสที่เงินบาทจะหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์มีความเป็นไปได้ยาก”

ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) พบว่ามีนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นสุทธิราว 1,000-2,000 ล้านบาท ส่วนตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิราว 1.86 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการซื้อบอนด์ตัวสั้นราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าในสัปดาห์หน้าจะเห็นนักลงทุนกลับมาตัดขายขาดทุน (Cut loss) ทำให้ในมุมบอนด์อาจจะติดลบ โดยจะติดลบมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโอมิครอน

“จะเห็นว่าสัปดาห์เปิดปีใหม่มาเราเห็นโฟลว์นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นค่อนข้างสูงถึง 8,500 ล้านบาท ส่วนอาทิตย์หน้าหุ้นซื้อบ้าง แต่โดยรวมจะเป็น Net out flow ซึ่งหากบาททะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์จะเห็นเงินไหลออกประมาณราว 2 หมื่นล้านบาทได้ทั้งฝั่งตลาดหุ้นและบอนด์รวมกัน”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.50-33.90 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ จากรายงานประชุมรอบล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า โดยเฟดหารือเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น และอาจตามมาด้วยการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening หรือ QT) เร็วขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากกังวลว่าสภาพคล่องในระบบจะลดลงเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้


โดยในสัปดาห์หน้าปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐ กับจีน รวมถึงการติดตามผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์สหรัฐ) และราคาน้ำมันดิบด้วยเช่นกัน ขณะที่ประเด็นในประเทศ จะเป็นเรื่องการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิดระลอกปัจจุบัน ถ่วงบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินบาท และแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวซึ่งอาจล่าช้าออกไปอีกสักระยะ