ย้อนรอย…เก็บภาษีคริปโท รัฐบาล คสช.คิดอะไร ?

คริปโทเคอเรนซี

ประเด็นการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ โดยผู้ประกอบธุรกิจและนักลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรที่มีการโยนหินออกมาในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บางคนมีคำถามว่า เมื่อครั้งออกกฎหมายมาควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะนั้นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดอะไร จึงกำหนดการจัดเก็บภาษีไว้เช่นนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ย้อนกลับไปดูในช่วงปี 2561 ที่มีการออกพระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้เพื่อควบคุมการประกอบธุรกิจนี้ และทางกระทรวงการคลังที่สมัยนั้นมี “นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” เป็น รมว.คลัง ได้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว

โดยตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 (การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล) ออกมาควบคู่กัน ซึ่ง พ.ร.ก. การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2561 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.ก. ดังกล่าวมี 2 ประการ ได้แก่

1. กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเค็นดิจิทัลและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเค็นดิจิทัลเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นเงินได้ประเภทผลตอบแทนทางการเงินโดยอยู่ใน (ซ) และ (ฌ) ของมาตรา 40 (4) ดังกล่าว

2. กำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังชี้แจงว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่มิได้ทำให้ผู้ทำธุรกรรมดังกล่าวต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด สำหรับธุรกรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรปัจจุบัน โดยสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง จึงมีภาระภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างอื่น ๆ

ขณะที่ในส่วนการกำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น กรมสรรพากรจะได้เสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นอกจากนี้ ขณะนั้นกระทรวงการคลังยังระบุว่าจะมีการออกกฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อบรรเทาภาระให้แก่บุคคลธรรมดาที่ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเค็นดิจิทัลผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แต่ล่าสุดพบว่ายังไม่ได้มีการออกกฎหมายยกเว้น VAT ดังกล่าวแต่อย่างใด

โดยขณะนั้น “นายอภิศักดิ์” ได้อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ว่า ได้เสนอกฎหมายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และการเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล โดยออกเป็น พ.ร.ก. 2 ฉบับ โดยหน่วยงานที่จะกำกับดูแลคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ส่วนของการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัลนั้น ในกรณีที่ซื้อขายแล้วมีกำไรก็ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% รวมถึงภาษีเงินปันผลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เนื่องจากทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและ ICO คือทรัพย์สินดิจิทัล เป็นสินทรัพย์หรือบริการ เมื่อมีการซื้อขายก็ต้องเสีย VAT โดยนิติบุคคลสามารถเคลมคืนได้แบบภาษีซื้อภาษีขายทั่วไป ส่วนบุคคลธรรมดาจะยกเว้น VAT

“เมื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้ลงบัญชีเป็นทุนหรือเป็นหนี้ ก็ถือเป็นสินค้า ดังนั้น ทางกรมสรรพากรจึงบอกว่า ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เหมือนการซื้อขายสินค้าหรือบริการทั่วไป ซึ่ง VAT มีภาษีซื้อ ภาษีขายที่นำมาหักลบกันได้ก็จะไม่มีภาระภาษี จึงมีการเก็บภาษีเงินได้จากส่วนต่างกำไร หรือเงินปันผลด้วย (capital gain tax)” นายอภิศักดิ์ระบุ

นายอภิศักดิ์ระบุด้วยว่า ประเทศไทยสนับสนุนเรื่องการลงทุน ทั้งผ่านตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ การฝากเงินกับสถาบันการเงิน แต่สินทรัพย์ดิจิทัลมีลักษณะเหมือนการเล่นพนันมากกว่าการลงทุน จึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้ “เงินดำ” อาศัยช่องทางนี้ “ฟอกเงิน”

“เราไม่ได้ปิดกั้นเทคโนโลยี ขอให้เป็นของจริงเถอะ ทำไปก็ไม่มีใครว่า แต่อย่าให้ของหลอกลวงมาปรากฏในประเทศไทย ตอนนี้มีคนจะออก ICO เยอะ ซึ่งผู้ที่หลอกลวงมันกลัวภาษี ไม่ใช่กลัวเกณฑ์ ก.ล.ต.” นายอภิศักดิ์กล่าว