วิรไท แนะแก้ยุทธศาสตร์ชาติ ลดอำนาจรัฐ-เปิดทางคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม

ดร.วิรไท สันติประภพ
ดร.วิรไท สันติประภพ

ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แนะแก้ยุทธศาสตร์ชาติ ลดอำนาจรัฐ-เปิดทางคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม

วันที่ 15 มกราคม 2565 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (วปอ.) ได้จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ NDC Leadership Talk Series Episode1 : From Strategy To Execution เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา โดยมี ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และนายโจ ฮอร์น พันธโนทัย Founder & CEO Strategy 613 โดยมี นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์” กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์
ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์

 

ไทยติดกับดักกรอบความคิดเดิม-ไม่มี outcome

ดร.วิรไท กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของการทำยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกที่คาดเดาได้ยากขึ้นเรื่อย หรือที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียกว่า VUCA ซึ่งประกอบด้วย V-Volatility ความผันผวนสูง, U-Uncertainty ความไม่แน่นอน, C-Complexity ความซับซ้อน และ A-Ambiguity ความคลุมเครือ ซึ่งหลายเรื่องที่คุ้นชินอาจจะไม่ได้เป็นแบบเดิม หรือเครื่องมือที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผล เพราะโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และให้น้ำหนักกับความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่ใช่แค่ระดับมหภาค แต่รวมถึงระดับองค์กร และภายนอกองค์กร เพื่อให้เกิด outcome เนื่องจากที่ผ่านมาเวลาจัดทำแผนมักจะยึดติดกับสิ่งที่เป็น Based Line แต่ภายใต้โลกที่ไม่แน่นอนสูงการอิงกับสิ่งที่เป็น Based Line จะไม่เป็นไปตามนั้น และทำให้เรายังคงติดกรอบเดิมไม่สอดคล้องกับบริษัทที่เกิดขึ้นจริง

“การทำแผนควรต้องอยู่บนสมมติฐาน (Scenario) เพื่อปรับตัวให้เท่าทัน แต่การทำ Scenario ไม่ง่าย แม้จะทำแผน 3 ปี ก็ถือว่ายาวเกินคาดเดา ซึ่งเราต้องทำให้แผน 3 ปี เกิด outcome คือกำหนดสิ่งที่เราต้องการคืออะไร หาก outcome เราไม่ชัด จะกลายเป็นแผนกิจกรรมที่มีแค่การต่อยอด เพราะโลกตอนนี้เปลี่ยนโครงสร้างทุกมิติ เราติดคิดแบบ outside in หรือแบบ agility ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่อย่างนั้นเราจะติดกับดักแผนเดิมกรอบเดิม”

ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการทำแผนยุทธศาสตร์ คือ เรายังคงติดกรอบความคิดเดิมเหมือนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 13 ซึ่งยังคงต้องการเป็นศูนย์กลางของ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) แต่หากดูประเทศเพื่อนบ้านจะคิดแบบเดียวกับเราหรือไม่ เพราะปัจจุบันทุกอย่างเชื่อมโยงกันดิจิทัลหรือเครือข่ายเน็ตเวิร์ก ซึ่งจะทำ data center ขนาดใหญ่ที่เปลืองพลังงานมหาศาล ซึ่งโลกต่อไปทุกอย่างจะอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้โลกวันนี้ ไม่มีศูนย์กลาง

ยกตัวอย่างเช่น ธปท.ที่ทำแผนระบบชำระเงินของประเทศ ซึ่งทุกคนคิดว่าต้องการเป็นศูนย์กลางชำระเงิน โดยการทำธุรกรรมการเงินจะต้องมาผ่านประเทศไทย เช่น ลาว-สิงคโปร์ทำธุรกรรมกันแต่ต้องมาเคลียริ่งที่ไทย ซึ่งหากคิดถึงโลกในอนาคตจะต้องคิดว่า outcome คืออะไร ซึ่งระบบการชำระเงินที่มีต้นทุนที่ถูกและประสิทธิภาพ (efficiency) ซึ่งตอนที่ออกแบบ Thai QR Code Standard คือ การทำให้ธุรกรรมของลาวและสิงคโปร์มาอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน และประเทศอื่น ๆ สามารถเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลง จึงมองว่าส่วนใหญ่ยุทธศาสตร์ไม่คิด outcome แต่ไปกิจกรรมจึงทำให้แผนไม่สำเร็จ

ระบบข้าราชการใหญ่เพิ่มภาระประเทศ-เบี้ยหัวแตก

ขณะเดียวกันปัญหาและอุปสรรคด้านหนึ่งของการทำแผนยุทธศาตร์การพัฒนาประเทศ คือ ระบบข้าราชการที่ใหญ่มากขึ้น ซึ่งเป็นภาระต้นทุนให้กับประเทศและภาระทางการคลัง และหากเราปล่อยให้ระบบข้าราชการใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จะมีผลข้างเคียงเยอะมาก เพราะจะมีกรอบกฎหมายกติกามากขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการพัฒนานวัตกรรม และไม่มีคนจัดลำดับความสำคัญ มีแต่ขอตั้งหน่วยงานเพิ่มและขอคนเพิ่ม จึงเกิดเป็นเบี้ยหัวแตก

“ข้อจำกัดของรัฐบาลกลางที่เล็กจะทำให้เราไม่เสียเวลา แต่จะเห็นว่ารัฐบาลไทยใหญ่และมีการรวมศูนย์มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นการตั้งหน่วยงานเพิ่ม ขออัตราคนเพิ่ม โดยไม่มองข้อจำกัดของประเทศ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ เรามักทำแผนหรือนโยบาย ที่หวังให้สามารถหาทางที่จะได้งบประมาณ ไม่มีกระบวนการต่อยอด ไม่ค่อยรู้สึกถึงผลหรือทางปฏิบัติ เพราะทุกคนจะกลัวทำเกินกรอบกฎหมาย และถูกตรวจสอบ เช็กบิลย้อนหลัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก และตอบโจทย์โลกเก่า เพราะระบบภาครัฐจะเป็นไซโล ทำให้ปัญหาหลายเรื่องเราแก้ไขไม่ได้ เพราะถูกโยงโครงสร้างอำนาจรัฐ”

ไทยยังขาดการสื่อสารข้ามระดับ-ชนชั้น

ดร.วิรไท กล่าวเสริมอีกว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ นั้น จะต้องมี execution guiding principles ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าหายไปในทุกแผนงาน เพราะหากไม่มีจะทำให้การทำงานระดับประเทศ สังคม และประชาชนมีความแตกต่างกัน โดยระดับประเทศมาสู่ระดับปฏิบัติงาน ซึ่งไทยยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับคนต่างระดับ โดยเรามักจะสื่อสารกันในระดับเดียวกัน ซึ่งเราต้องทำให้เกิดการสื่อสารข้ามระดับ ห้ามชนชั้น

เช่น ธปท.ในช่วงที่ทำระบบการชำระเงิน จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์มีอิทธิพลต่อ ธปท. เนื่องจากมีการทำงานร่วมกันหรือการประชุม แต่เราต้องการได้ยินจากคนตัวเล็ก ประชาชน จึงต้องส่งทีมงานไปสื่อสารกลับวินจักรยานยนต์ หรือแม่ค้าขายไข่เจียว เพื่อให้ทุกคนต้องได้ประโยชน์จากระบบชำระเงิน

ดังนั้น การสื่อสารก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะฐานะภาครัฐต้องทำหน้าที่จัดการความกลัวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) และทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแล เช่น การทำระบบพร้อมเพย์ โดยผู้เสียประโยชน์ คือ สถาบันการเงิน ซึ่งเราต้องชี้แจงว่าต้นทุนของเงินสดในแต่ละปี 1-1.5 หมื่นล้านบาท หากเรามาใช้ระบบพร้อมเพย์จะทำให้ต้นทุนการใช้เงินสดลง แม้ว่าธนาคารจะมีรายได้จากการทำธุรกรรมตรงนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ต้นทุนอื่นของธนาคารลดลง เช่น ต้นทุนทำธุรกรรมผ่านสาขา รวมถึงระบบพร้อมเพย์ถูกกำหนดไม่ให้ใครยึดหัวหาด และเปิดกว้างให้ผู้เล่นเข้ามาเชื่อมต่อได้

“การสื่อสารต้องทำให้เกิดความทั่วถึง วันนี้การสื่อสารมักจะมาจากการสื่อสารจากคนระดับเดียวกัน ชนชั้นเดียวกัน แต่อย่างลืมว่าสังคมมีหลายระดับ มีบริบทที่ต่างกัน เจเนอเรชั่นที่ต่างกัน ดังนั้นโจทย์ที่สำคัญคือ เวลาจะทำอะไรให้ถึงระดับประชาชน ต้องทำให้การสื่อสารข้ามระดับ ข้ามชนชั้น”

หนุนคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม-รัฐทำหน้าที่สนับสนุน

ภายใต้การทำแผนยุทธศาสตร์ จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศ เพราะหากยังอยู่ในคนรุ่นปัจจุบันจะติดกรอบเดิม และ paradigm แบบเดิม แต่โลกข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้วิธีคิดคนรุ่นเก่าอาจตามไม่ทัน จึงควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศ

ขณะเดียวกัน โลกหลังโควิด-19 จะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และการทำงานก็มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำอย่างไรให้ภาครัฐไม่ต้องทำเอง แต่คอยเป็นผู้สนับสนุน หรือกำกับดูแลถือหางเสือเพื่อไปให้ถูกทาง ซึ่งเรามีบทเรียนในช่วงโควิด-19 เช่น ระบบไอที ที่จะเห็นผ่านมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งมีการพัฒนารวดเร็ว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน โดยอาศัยพื้นฐานการชำระเงินของธนาคารกรุงไทย แต่ในทางกลับกันระบบการจองวัคซีนที่พัฒนาโดยภาครัฐจะเห็นว่าเกิดปัญหาสะดุด หรือตั๋วร่วมขนส่งสาธารณะที่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้สมาร์ทโฟนแตะจ่ายได้สะดวก ดังนั้น อำนาจรัฐควรเป็นคนสนับสนุนและให้คนอื่นทำแทน

ลดขนาดรัฐ-เลิกออกกฎหมายคลุมทุกอย่าง

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ความท้าทายของการทำยุทธศาสตร์ชาติ คือ ระบบข้าราชการหรือภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องออกมากฎหมายมาควบคุมมากขึ้น ซึ่งในฐานะนักกฎหมายไม่แฮปปี้ที่มีกฎหมายเยอะ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และไม่ก่อให้เกิดนวัตกรรมและการพัฒนา รวมถึงสร้างภาระต้นทุนมหาศาลในการเข้าไปดูแล

ปกรณ์ นิลประพันธ์
ปกรณ์ นิลประพันธ์

นอกจากนี้ การทำงานยังคงยึดติดกับการทำงานรูปแบบเดิม ๆ โดยจะเห็นว่าแผนยุทธศาตร์ประมาณ 80-90% ยังคงอิงมาจากยุทธศาสตร์เดิม แต่มาตั้งโครงการใหม่หรือหน่วยงานใหม่เพื่อของบประมาณ ซึ่งไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่จำเป็นต้องมีความคล่องตัว ขณะเดียวกันการตั้งหน่วยงานไม่ได้สะท้อนว่าโครงการเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น การคิดยุทธศาสตร์ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งภาพรวมและองค์กรด้วย

“โลกข้างหน้าเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งรัฐจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายบำเหน็จบำนาญ หากยังคงมีหน่วยงานจำนวนมาก มองว่าไม่มีทางเพียงพอ เพราะมีแต่ต้นทุน ดังนั้นภาครัฐควรลดขนาดลงมา”

ทำเรื่องเล็กให้ผลจริงก่อนปรับเปลี่ยนเรื่องใหญ่

ด้านนายโจ ฮอร์น พันธโนทัย Founder & CEO Strategy 613 กล่าวว่า หากเปรียบเทียบรัฐบาลไทย และจีน เราจะเห็นว่ารัฐบาลกลางจีนมีขนาดค่อนข้างเล็กมีบุคลากรเพียง 1 แสนคน (ไม่รวมทหาร ตำรวจ) และลองหากเทียบรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งมีบุคลากรสูงถึง 1 ล้านคน และสิ่งที่สำคัญรัฐบาลจีนมีข้อกำหนดห้ามเพิ่มหน่วยงานทุกระดับ แต่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ โดยเฉพาะการบริหารงานที่มีการส่งต่อไปยังระดับมณฑล และระดับเมืองเพื่อบริหารงานในส่วนต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพ

โจ ฮอร์น พันธโนทัย
โจ ฮอร์น พันธโนทัย

อย่างไรก็ดี การลดขนาดภาครัฐ แม้ว่าจะเป็นโจทย์ที่มีปัญหา แต่การทำให้รัฐไซส์เล็กลง (Downsizing) ถือเป็นใหญ่และเป็นเรื่องระยะยาว แต่ในระหว่างนี้อยากให้ทำในเรื่องเล็ก ๆ เพื่อให้ได้ผลก่อน เช่น การอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย หรือการหันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น โดยเร่งในจุดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว และให้ผลจริงก่อนจะไปเร่งทำในเรื่องใหญ่ที่ใช้เวลานาน

“แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน ที่ต้องร่วมมือกัน ต้องลงไม้ลงมือ เพื่อไม่ให้เป็นภาระใครคนเดียว”