TGH ล้มกระดานธุรกิจประกันภัย ลูกค้า 10 ล้านรายป่วนหวั่นลอยแพ

อาคเนย์

ตลาดประกันภัย 2.5 แสนล้านป่วน เจ้าสัวเจริญเดินเกมล้างไพ่ “ธุรกิจประกันภัย” ขอเลิกกิจการหยุดเลือดไหล สะเทือนลูกค้าทั้งประกันโควิดและประกันรถยนต์-อัคคีภัยกว่า 10 ล้านราย ลูกค้าหวั่นถูกลอยแพ คู่ค้า-อู่ซ่อมไม่กล้ารับงานโยนลูกค้าสำรองจ่าย คปภ.งัดข้อกฎหมายแจง 4 เงื่อนไข “เลิกกิจการ” นายกสมาคมฯเผย อาคเนย์เจอเคลมโควิดเดือนละ 2,000 ล้านบาท เผยต้องถมอีกเป็นหมื่นล้าน

เจ้าสัวล้างพอร์ตประกันภัย

นับเป็นหน้าประวัติศาสตร์วงการประกันภัยไทยที่ต้องจารึกไว้ กับเหตุการณ์ “ช้างชนช้าง” เมื่อบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ธุรกิจประกันของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เดินเกมฟ้องร้อง เลขาธิการและสำนักงาน คปภ. กรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างศาลปกครองนัดไต่สวน

ขณะเดียวกัน อีกด้านบอร์ด บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ (TGH) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ และที่ประชุมผู้ถือหุ้นอาคเนย์ประกันภัย เมื่อ 26 มกราคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบ ขอใช้สิทธิ “เลิกกิจการ” โดยสมัครใจ ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ถือเป็นการเดินเกมครั้งที่ 2 โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพราะขณะนี้อาคเนย์ประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมเคลมประกันภัยโควิดไปแล้วกว่า 9,900 ล้านบาท

พร้อมระบุว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทก็ได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินไปแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาท โดยถ้าให้รักษากรมธรรม์โควิดต้องเพิ่มทุนอีก 20,000 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มทุนหรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอาจจะไม่สามารถทำได้ ดังนั้นหากไม่เร่งดำเนินการเลิกกิจการ บริษัทอาคเนย์ประกันภัยจะนำไปสู่การมีฐานะที่ขาดความเหมาะสมประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้

ยอมทิ้งลูกค้า 10 ล้านราย

นอกจากนี้ ทาง TGH ระบุว่า ปัจจุบันสถานะทางการเงินของอาคเนย์ประกันภัย มีสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท มีเงินกองทุนดำรงตามกฎหมาย (CAR) อยู่ที่ระดับ 170% สูงกว่าเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนด ซึ่งผู้บริหารอาคเนย์ชี้แจงว่าเพียงพอต่อการคืนเบี้ยทุกราย ซึ่งพอร์ตมีลูกค้ารวมกันประมาณ 10.48 ล้านราย และยืนยันว่า คู่ค้า ทั้งอู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล และตัวแทนอาคเนย์ฯกว่า 9,000 ราย จะได้รับเงินครบถ้วนหากบริษัทยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน รวมถึงพนักงานอีก 1,396 คน ก็จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม หากแผนการเลิกตาม คปภ.เห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม หาก คปภ.ไม่ยอมให้เลิกกิจการโดยสมัครใจ ก็อาจทำให้การดำเนินธุรกิจต่อไปของบริษัทต้องขาดทุน จนมีภาระหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และถูกสั่งปิดกิจการ ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงที่ทั้งลูกค้า และคู่ค้า จะไม่ได้รับค่าชดเชยสินไหม หรือได้รับค่าบริการล่าช้าในขั้นตอนการชำระบัญชี

ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกค้าของอาคเนย์ประกันภัย ประกอบด้วย ผู้ถือกรมธรรม์โควิด-19 จำนวน 1.85 ล้านราย และ 2.ผู้ถือกรมธรรม์ประเภทอื่น ๆ (Non COVID-19) อีกกว่า 8.63 ล้านราย

คปภ.แจงเงื่อนไขเลิกกิจการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) วันที่ 28 มกราคม 2565 ได้มีการนำวาระเรื่องการขอ “เลิกกิจการ” ของอาคเนย์ฯเข้าพิจารณาว่า บริษัทจะสามารถดำเนินการดังกล่าวได้หรือไม่ หรือจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร

โดยเมื่อ 26 มกราคม 2565 สำนักงาน คปภ.ได้ชี้แจงว่า กรณีบริษัท TGH แจ้งมติที่ประชุมบอร์ดเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 กำหนดให้กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจให้ยื่นคำขออนุญาตต่อ “คณะกรรมการ คปภ.” เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

โดยบอร์ด คปภ. มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่จะอนุญาตให้เลิกกิจการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

1.วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผล
ผูกพันอยู่

2.วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบ และใช้สิทธิตามกฎหมาย

3.การโอนหรือการขอรับเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน

4.การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท

พร้อมกันนี้ สำนักงาน คปภ.ระบุด้วยว่า สำหรับกองทุนประกันวินาศภัยได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพเท่านั้น ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดภารกิจของกองทุนให้ครอบคลุมถึงกรณีบริษัทประกันภัยขอเลิกประกอบธุรกิจเอง

ชะตา “อาคเนย์ฯ” เลิกกิจการ

แหล่งข่าวสำนักงาน คปภ.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บอร์ด คปภ.อาจให้กลับไปแก้ไขข้อเสนอบางส่วนก่อนแล้วกลับมาพิจารณาใหม่ เพราะตอนนี้คำขอดังกล่าวไม่นิ่ง มีการยื่นแล้วแก้ไขเปลี่ยนแปลง เดิมพอร์ตประกันภัยอื่น (nonCOVID) จากที่จะโอนไปให้บริษัทอินทรประกันภัย แต่ล่าสุดไม่โอน แต่จะยกเลิกทั้งหมด

“ตามกฎหมายมาตรา 57 ให้เสนอมาตรการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันสำหรับกรมธรรม์ที่มีผลผูกพันอยู่ ฉะนั้นถ้าเสนอโอนพอร์ตประกัน nonCOVID ไปให้บริษัทอินทรประกันภัยยังพอเข้าใจได้ และค่อยมาพูดคุยว่าพอร์ตประกันโควิดมากแค่ไหน อย่างไรที่มองว่าคุ้มครองพอ ซึ่งจะฟังดูเข้าท่ากว่า”

แหล่งข่าวกล่าวว่า กฎหมายกองทุนประกันวินาศภัยระบุไว้ชัดว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ซึ่งลักษณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกองทุนอย่างไร

หากในกรณีบอร์ด คปภ.ไม่อนุมัติให้เลิกกิจการ และเงินกองทุนอาคเนย์ฯลดลงจนมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน คปภ.ก็จะดำเนินการให้เพิ่มทุน และหากไม่เพิ่มทุนก็จะดำเนินการตามกฎหมายจนกระทั่งสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

คดีศาลปกครองยังเงียบ

“ขณะที่ยืนยันว่าความเสี่ยงครั้งนี้ยังไม่ใช่ความเสี่ยงเชิงระบบ เพราะว่าบริษัทรับประกันโควิดที่เหลือ ทั้งวิริยะประกันภัย และกรุงเทพประกันภัย มีความแข็งแรงที่จะรับประกันจนครบอายุกรมธรรม์ และบริษัทที่ไม่รับประกันโควิดก็ไม่ได้รับผลกระทบ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าคดีฟ้องร้องที่ศาลปกครอง ปัจจุบันศาลยังไม่รับคำฟ้อง อาจมองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วน ศาลจะสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือนัดไต่สวนคำขอคุ้มครองชั่วคราวไปแล้ว และที่ผ่านมากระบวนการไต่สวนว่าควรรับฟ้องหรือไม่ ขณะนี้ศาลยังเงียบอยู่

งัดแผนรับมือเลิกกิจการ

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีอาคเนย์ประกันภัยยื่นขอใช้สิทธิเลิกกิจการตามกฎหมาย บอร์ด คปภ.จะอนุญาตคงต้องพิจารณาว่าในมิติอื่น ๆ เช่น แผนเลิกกิจการจะเคลียร์กับลูกค้าผู้เอาประกันอย่างไร ทั้งลูกค้าประกันรถยนต์, ประกันทรัพย์สิน, ประกันอัคคีภัย, ประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพ

อาคเนย์ประกันภัยคงไม่สามารถเลิกกิจการทันที ต้องทำแผนก่อนเลิกกิจการให้ชัดเจน และต้องไม่รับประกันงานใหม่เข้ามา โดยพอร์ตลูกค้าผู้เอาประกันภัย nonCOVID มีสิทธิบอกเลิกได้ ซึ่งอาจบอกเลิกไปแล้วคืนเบี้ยส่วนที่เหลือตามความคุ้มครอง หรือถ่ายโอนไปยังบริษัทผู้รับประกันรายอื่น เพราะบางกลุ่มมีการรับประกันภัยร่วม (coinsurance) กันอยู่แล้ว โดยเฉพาะพอร์ตประกันภัยทรัพย์สิน (IAR) โครงการใหญ่ ๆ ค่อนข้างสำคัญ เพราะประกันภัยต่อ (reinsurance) ต้องใช้เวลา

หยุดจ่ายโควิดเดือนละ 2 พันล้าน

นายอานนท์กล่าวว่า ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยโควิดยังบอกเลิกไม่ได้ ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ซึ่งคาดว่าอาคเนย์ประกันภัยคงทิ้งไปให้กองทุนประกันวินาศภัยดำเนินการ มีเคลมเข้ามาก็ไม่จ่าย เพราะตัวเลขเคลมโควิดเข้ามาประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเข้ามาเร็วมาก และกว่ากรมธรรม์จะหมดอายุทั้งหมดก็ราวเดือนมิถุนายน 2565 ถ้าจ่ายไปจะไม่เหลือเงินจ่ายให้ลูกค้าผู้เอาประกันภัย nonCOVID

“ส่วนตัวเชื่อว่าอาคเนย์ฯจัดการทยอยเคลียร์หนี้ไปได้สำหรับจ่ายเคลมลูกค้า nonCOVID และค่าใช้จ่ายอู่ซ่อมรถ และถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้ว บริษัทไม่เหลือเงิน คปภ.ก็ต้องดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตอยู่ดี เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เอาประกัน ฉะนั้นหากอยู่กันคนละฝั่ง คนเดือดร้อนที่สุดคือลูกค้า ต้องมาร่วมหาทางออกด้วยกันทุกฝ่าย” นายอานนท์กล่าว

ส่วนการเยียวยาพนักงานเกือบ 1,400 คน อาจต้องทยอยเลิกจ้าง โดยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ไม่ต้องขออนุญาต คปภ. แต่ต้องเขียนอยู่ในแผนเลิกกิจการให้ชัดเจนเพื่อให้รู้ล่วงหน้า

“เคสเลิกกิจการลักษณะนี้เคยมี แต่เป็นกรณีการคืนใบอนุญาตเพื่อควบรวมกิจการเพื่อให้เติบโตขึ้น แต่กรณีนี้คือคืนใบอนุญาตแล้วตาย”

สุญญากาศตลาดปั่นป่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวระบุว่า ในช่วงสุญญากาศที่ยังไม่มีความชัดเจนถึงทิศทางและอนาคตของ “อาคเนย์ประกันภัย” ได้สร้างความโกลาหลให้กับลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์กว่า 10 ล้านราย เป็นอย่างมาก เพราะข้อเสนอของบริษัทเอกชนจะเป็นการ “ยกเลิก” กรมธรรม์และคืนเบี้ยให้กับลูกค้าตามสัดส่วนของวันคุ้มครองที่ยังเหลืออยู่ และส่งผลให้ความคุ้มครองต่าง ๆ ต้องยุติลง

รวมถึงผลกระทบอู่ซ่อม ศูนย์บริการรถยนต์ หลายแห่งที่ไม่กล้ารับงานของอาคเนย์ประกันภัย รวมทั้งเซอร์เวเยอร์ก็ไม่เข้าสำรวจภัยเวลารถเกิดเหตุ เพราะกลัวว่าจะไม่ได้ค่าแรง ฉะนั้นหากยังไม่มีความชัดเจนของแผนเลิกกิจการออกมา คงสร้างความปั่นปวนและส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นระบบประกันภัยไทยไปอีกสักระยะ

คู่ค้า-อู่ซ่อมไม่รับงาน

นายจิตวุฒิ ศศิบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาวเด้น แมกซี่ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ธุรกิจนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์ประกันภัย) ได้รับเสียงบ่นจากลูกค้าจำนวนมาก กรณีอาคเนย์ประกันภัยจะปิดกิจการ ซึ่งคล้ายคลึงกับตอนที่เอเชียประกันภัยและเดอะ วัน ประกันภัย ถูกสั่งหยุดรับประกันใหม่ชั่วคราวก่อนจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต

“เวลานี้เกิดความโกลาหลขึ้น เมื่อลูกค้าอาคเนย์ฯเกิดเหตุรถชน เซอร์เวเยอร์ไม่มา ขณะที่อู่ซ่อมไม่รับงาน เช่นเดียวกับศูนย์บริการรถยนต์ อาทิ ฮอนด้า, โตโยต้า ก็ไม่มีใครกล้ารับงาน ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีผลสรุปออกมา ขณะที่ประชาชน หรือลูกค้าผู้เอาประกันก็ตกใจ สอบถามนายหน้าประกันเข้ามาว่าจะได้เงินคืนมั้ย”

โดยเบื้องต้นโบรกเกอร์ประกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อธิบายให้ลูกค้าฟังว่าตอนนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม การเคลมเบิกได้ แต่ติดขัดปัญหาให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โบรกเกอร์ประกัน ซึ่งจะช่วยประสานเจ้าหน้าที่อาคเนย์ฯเพื่อให้ไปยืนยันกับอู่ซ่อมลดความกังวล

ทุกฝ่ายหมดความเชื่อมั่น

นายจิตวุฒิกล่าวต่อว่า ในส่วนฮาวเด้น แมกซี่ฯ มีลูกค้าอาคเนย์ประกันภัยรวมประมาณ 3,000 ฉบับ แยกเป็นประกันรถยนต์ 2,000 ฉบับ และอีก 1,000 ฉบับ เป็นประกันภัยทรัพย์สิน ซึ่งปัญหาตอนนี้คือความเชื่อมั่นหาย ส่งผลให้งานประกันไม่เข้าบริษัทอาคเนย์ฯ พอโบรกเกอร์ประกันเสนอสินค้าอาคเนย์ฯ ลูกค้าก็จะไม่เอา

รวมไปถึงความกังวลการโอนย้ายพอร์ตจะทำได้ทันทีหรือไม่ ถ้าไม่โอนย้ายจะเกิดปัญหาแน่ ๆ หากอาคเนย์ประกันภัยหยุดกิจการ ดังนั้นจำเป็นต้องหาผู้รับประกันภัยรายอื่นรองรับไว้ทันที และต้องเรียกเบี้ยคืนส่วนที่เหลือจากอาคเนย์ประกันภัย

“หากอาคเนย์ประกันภัยต้องหยุดกิจการจริง ทางสมาคมเสนอว่าควรปล่อยให้ทุกกรมธรรม์หมดอายุของตัวเองไปก่อน (run of policy) ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะสัญญาเป็นปีต่อปีอยู่แล้ว อาจจะมีกรมธรรม์การก่อสร้างที่มีอายุความคุ้มครองยาว 3-5 ปี เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหา ในกรณีที่หากลูกค้าไม่ยอมโอนย้ายกรมธรรม์”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนก็อยากให้สร้างความมั่นใจให้กับอู่ซ่อม เซอร์เวเยอร์ คู่ค้า และประกันภัยต่อ เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่

ห่วงกระทบประชาชน

นายจิตวุฒิกล่าวว่า สำหรับการประชุมบอร์ด คปภ.เชื่อว่าคงมองผลกระทบประชาชนเป็นหลัก แต่ในมุมธุรกิจ คปภ.ก็ไม่อาจก้าวก่ายได้ เมื่ออาคเนย์ประกันภัยอยากจะเลิกกิจการเพราะธุรกิจเจ๊ง ฉะนั้นคงต้องหาทางออกที่ดีที่สุดในส่วนของลูกค้าประกันโควิดอาจจะเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ หรือเยียวยาขอยกเลิกกรมธรรม์แล้วคืนเงินกี่เท่าก็ว่ากันไป

แต่ถ้าเกิดกรณีการเลียนแบบเลิกกิจการ ต้องให้ คปภ.ยึดข้อเสนอมาตรการตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยเคยเสนอไว้ คือ ต้องเป็นบริษัทประกันที่มีค่าสินไหม (loss ratio) เกิน 400% หรือมีค่าสินไหมตั้งแต่ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือสินไหมเกินกว่า 10% ของเงินกองทุน ซึ่งเป็นทางออกที่ดีเพราะจะไม่เกิดผลกระทบโดมิโน

อู่ซ่อมโยนลูกค้าสำรองจ่าย

นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส ประธานบริหาร บีอาร์จีกรุ๊ป ผู้นำเข้ารถชั้นนำจากต่างประเทศ เปิดเผยว่า โดยปกติรถที่มาทำเคลมประกัน และใช้บริการกับอู่ซ่อมสีตัวถังของบีอาร์จี ถือหลักฐานการซ่อมหรือใบเคลมจากประกันภัยก็สามารถซ่อมได้เลย

แต่ระยะหลังก็มีหลายบริษัทที่มีปัญหาจ่ายเงินค่าซ่อมล่าช้า ทางบริษัทก็จะดำเนินการให้ลูกค้าสำรองจ่ายก่อน เมื่อได้เงินจากทางประกันภัยก็จะคืนให้ลูกค้า ส่วนตอนนี้ถ้าเป็นลูกค้าของอาคเนย์ประกันภัย ซึ่งมีข่าวเลิกกิจการก็ไม่รับซ่อม หรือถ้ารับทางอู่ก็จะใช้วิธีให้ลูกค้าสำรองจ่าย โดยบริษัทจะเตรียมเอกสารให้ลูกค้าไปดำเนินการเรียกคืนสินไหมทดแทนจากทางอาคเนย์ฯเอง

ด้านนายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหาร การตลาดและการขาย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทไม่ได้เลือกใช้ประกันภัยรายดังกล่าว แต่หากมีลูกค้าบางรายที่เข้าข่าย และเกิดปัญหา บริษัทก็พร้อมประสานงานให้ลูกค้า แต่ทั้งนี้ต้องมีข้อยืนยันจากภาครัฐและบริษัทประกันภัยว่าจะให้ความคุ้มครองในการดำเนินงานและสามารถรับซ่อมได้จริงด้วย

เช่นเดียวกับ นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้ามาสด้าจะเลือกใช้ประกันภัยพรีเมี่ยม Mazda Premium Insurance ในปีแรกอยู่แล้ว และส่วนใหญ่เลือกต่อประกันภัยเดิม ไม่ได้ใช้ของบริษัทอาคเนย์ฯแต่อย่างใด หลัก ๆ จะเป็นวิริยะประกันภัย, ธนชาตประกันภัย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์ และทิพยประกันภัย

“อาคเนย์ประกันชีวิต” ไม่เกี่ยว

นอกจากกรณีปัญหาของอาคเนย์ประกันภัย ได้สร้างความสับสนและความกังวลให้กับลูกค้าที่ซื้อประกันกับบริษัท “อาคเนย์ประกันชีวิต” ว่าจะเกิดปัญหาด้วยหรือไม่ นางภฤตยา สัจจศิลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงถึงลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรธุรกิจว่า บริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต เป็นหนึ่งในสายธุรกิจของบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH แต่บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต และอาคเนย์ประกันภัย เป็นนิติบุคคลที่มีการบริหารงานแยกจากกันอย่างชัดเจน

และยืนยันว่า บริษัทอาคเนย์ฯยังมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง แข็งแกร่ง พร้อมดูแลเคียงข้างลูกค้าอาคเนย์ประกันชีวิตทุกกรมธรรม์ให้ได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ด้วยความใส่ใจ ห่วงใยต่อคู่ค้า พันธมิตร และผู้ใช้บริการอย่างดีที่สุด

“เจอ จ่าย จบ” จุดเปลี่ยน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากการเสนอขายกรมธรรม์โควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” กลายเป็นวิกฤตครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยที่มีมูลค่าปีละประมาณ 2.5 แสนล้านบาท โดยหลังจากการระบาดของโควิด-19 รุนแรงในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดเคลมโควิดพุ่งไม่หยุดโดยเฉพาะ “เจอ จ่าย จบ” ทำให้ ณ สิ้นปีที่ผ่านมามียอดจ่ายเคลมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเบี้ยประกันที่ได้รับประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต้น ๆ เท่านั้น

ส่งผลให้ช่วงปีที่ผ่านมาต้องมีบริษัทประกันวินาศภัยประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ถูกสั่งปิดกิจการและเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว 2 ราย คือ 1.บริษัท เอเชียประกันภัย จำกัด เมื่อ 15 ตุลาคม 2564 และ 2.บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกสั่งปิดเมื่อ 13 ธันวาคม 2564