อาคเนย์ประกันภัย: เปิดผลประกอบการ 9 เดือนปี 64 ขาดทุนเฉียด 150 ล้าน

เปิดผลประกอบการ อาคเนย์ประกันภัย พบ 9 เดือนปี 2564 ขาดทุนแตะ 150 ล้านบาท เผยโควิด-มาตรการรัฐทุบร่วง คาด 1 เคส ใช้เงินเคลมประกัน 5 หมื่น – 2 แสนบาท จ่อปิดตำนานธุรกิจประกันภัยที่มีคนไทยทั้งหมดเป็นผู้ก่อตั้ง หลังผ่านร้อนผ่านหนาวมา 76 ปี 

วันที่ 27 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมบริษัท เครือไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 มีมติเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยังไม่อนุญาต

เนื่องจากตามกฎหมาย อาคเนย์ประกันภัยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะพิจารณาอนุญาตให้เลิกกิจการในลำดับถัดไป ทำให้ขณะนี้การเลิกกิจการของอาคเนย์ประกันภัยจึงยังไม่สะเด็ดน้ำและผู้ที่ถือกรมธรรม์ของบริษัทนี้กว่า 10 ล้านราย คงต้องจับตามองกันต่อไป

แต่ก่อนที่จะถึงวันลา “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปดูผลประกอบการของบริษัทประกันภัยแห่งนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

เว็บไซด์ของอาคเนย์ประกันภัย เปิดเผยข้อมูลทางการเงินว่า ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 พบว่าบริษัทมีฐานะทางการเงิน ดังนี้ (ดูตาราง)

สถานะทางการเงินของอาคเนย์ประกันภัย ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 ภาพจากเว็บไซด์อาคเนย์ประกันภัย

ส่วนรายได้ของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 (งวด 9 เดือน ตามรายงานงบการเงินระหว่างกาลแบบย่อ) พบว่า บริษัทมีรายได้รวม 5,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 5,631.04 ล้านบาท ประมาณ 364.823 ล้านบาท

ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 6,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีรายจ่ายรวม 5,705 ล้านบาท ประมาณ 460 ล้านบาท ดังนั้น จึงทำให้ผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 มีขาดทุนรวม 149.8 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทางอาคเนย์ประกันภัยได้หมายเหตุประกอบงบการเงินระหว่างกาลว่า ได้รับผลกระทบจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19

โดย ณ ขณะนั้น ได้ประเมินสถานการณ์ว่ายังไม่แน่นอน เพราะการแพร่ระบาดยังมีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 บวกกับความสำเร็จของการวางมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ทั้งการล็อกดาวน์, การจัดหาวัคซีน ทำให้มีผลต่อการคำนวณสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามทุนประกันของผลิตภัณฑ์คุ้มครองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ข้อมูลกรมธรรม์โควิด-19 ที่มีผลบังคับใช้ มีจำนวน 1 ล้านกรมธรรม์ คาดการณ์อัตราการติดเชื้อของคนไทย ณ ตอนนั้นที่ 3.32% ของจำนวนประชากรในไทย ส่วนการติดเชื้อของผู้ถือกรรมธรรม์คาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ 5.09% ของจำนวนกรมธรรม์ทั้งหมด และคาดว่า 1 เคสจะต้องเคลมประกันที่ 50,000 – 200,000 บาท

อาคเนย์ประกันภัย
รายงานผลประกอบการระหว่างกาล บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

รู้จัก อาคเนย์ประกันภัย

7 ผู้ก่อตั้งอาคเนย์ประกันภัย ภาพจาก http://www.segroup.co.th/

สำหรับอาคเนย์ประกันภัย ก่อตั้งขึ้นในปี 2489 (76 ปี) โดยมีผู้ก่อตั้ง 7 คน ได้แก่ หลวงดำรงดุริตเรข, รองสนิท โชติกเสถียร, เทียน เหลียวรักวงศ์, หม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล, พยัพ ศรีกาญจนา, พระยาปรีชานุสาสน์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพัน ยุคล

ถือเป็นกิจการธุรกิจประกันภัยที่มีคนไทยเป็นผู้ก่อตั้งแห่งที่ 2 โดยแห่งแรกคือบริษัทไทยประกันชีวิต ทุนจดทะเบียนเริ่มแรกที่ 1 ล้านบาท

เมื่อดำเนินกิจการมาได้ระยะหนึ่ง ช่วงทศวรรษ 2530 เกิดความขัดแย้งขึ้นในฝ่ายผู้บริหาร ซึ่งล้วนเป็นลูกหลานของผู้ก่อตั้ง เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ จนลามเป็นความขัดแย้งรุนแรง

ในที่สุดผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งได้ตัดสินใจขายหุ้นให้กับ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ในปี 2532 จำนวน 90,241 หุ้น หรือ 45.12% ของหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ 200,000 หุ้น ซึ่งตอนนั้นเจ้าสัวเจริญยังเป็นจอมยุทธ์น้ำเมาคั่วสุราทิพย์อยู่ แต่ความขัดแย้งระหว่างลูกหลานในบริษัทก็ยังไม่จบ

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2545 “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เจริญ สิริวัฒนภักดีได้เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนของตระกูลนิวาตวงศ์และศรีกาญจนารวม 54.01% ทำให้ถือหุ้นในบริษัทใหญ่ที่สุด 94% นำสู่การเป็นอีก 1 พอร์ตธุรกิจของเจ้าสัวเจริญอย่างสมบูรณ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

พาดหัวประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2545