ดีอี โชว์ผลงาน 30 วัน ปราบโจรออนไลน์ 6,400 คดี

ดีอี

“ดีอี” โชว์ผลงานปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ เดือนเมษายน 2567 พบจับกุม 6,400 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2567 ที่ 2,600 คดี ความเสียหายเฉลี่ยต่อวัน 110 ล้านบาท เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานต่อเนื่อง พร้อมหารือ “Microsoft” อัพเกรดเทคโนโลยีสกัดมิจฉาชีพ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผย หลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 4/2567 เพื่อดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ว่า ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2567 มีรายละเอียดดังนี้

  • จับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์ 6,400 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2567 ที่ 2,600 คดี
  • จับกุมคดีพนันออนไลน์ 3,757 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2567 ที่เฉลี่ยเดือนละ 1,200 คดี
  • จับกุมคดีเกี่ยวกับบัญชีม้า 361 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2567 ที่เฉลี่ยเดือนละ 120 คดี
  • เกิดคดีเฉลี่ย 992 เรื่อง/วัน คิดเป็นความเสียหาย 110 ล้านบาท/วัน (ไตรมาส 1/2567 เกิดคดีเฉลี่ย 855 เรื่อง/วัน คิดเป็นความเสียหาย 149 ล้านบาท/วัน)

“แม้ว่าการดำเนินการเชิงรุกจะทำให้ตัวเลขความเสียหายลดลงประมาณ 20% จากเฉลี่ยวันละ 149 ล้านบาท เป็น 110 ล้านบาท แต่สำหรับผมก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ ตอนนี้อยากให้มูลค่าความเสียหายลดลงไปมากกว่า 50% ภายในเดือนหน้า ซึ่งคณะทำงานก็เร่งทำงานเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง”

นอกจากนี้ นายประเสริฐยังได้เปิดเผยผลการดำเนินงานในการระหว่างกระทรวงดีอีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2567 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • ปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท 16,158 รายการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 625 รายการ
  • ปิดกั้นเว็บไซต์หลอกลวงผิดกฎหมาย 4,357 รายการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 268 รายการ
  • ปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์ 6,515 รายการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 168 รายการ

และการจับกุมครั้งสำคัญในเดือนเมษายน 2567 เช่น

Advertisment

1.ปฏิบัติการ “OPERATION CYBER STRIKE” ทลาย 9 เครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ “huayland.net” พบยอดเงินหมุนเวียนกว่า 5,000 ล้านบาท จับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องในเครือข่าย รวม 29 ราย

2.จับกุมขบวนการหลอกลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีเชื่อมโยงเว็บพนันออนไลน์ ฟอกเงินและแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 23 คน ยึดทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 125 ล้านบาท

และ 3.การบุกทลายบริษัทบัญชีม้า โดยแปลงรูปแบบการใช้บัญชีธนาคารในชื่อนิติบุคคลทั้งบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด พบมีผู้เสียหายจำนวนทั้งสิ้น 153 ราย (เคสไอดี) รวมมูลค่าความเสียหายนับพันล้านบาท สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 12 ราย เป็นต้น

นอกจากนี้ ในวันที่ 30 เมษายน 2567 DSI ได้ดำเนินการทลายเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่ พบบัญชีผู้เล่นมากกว่า 100,000 คน เงินทุนหมุนเวียนกว่า 2,000 ล้านบาท

Advertisment

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการถึงกระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 30 วัน นับตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ในการเร่งรัดปราบภัยคุกคาม และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เนื่องจากสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนไทยจำนวนมาก

โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องใน 8 มาตรการ ได้แก่

1.ตัวเลขอาชญากรรมใน 30 วัน ต้องลดลงชัดเจน
2.กวาดล้างบัญชีม้า
3.ปราบซิมม้า
4.บูรณาการหน่วยงานกวาดล้างเสาสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดน
5.ประสานกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบบุคคลต่างด้าวที่อยู่ในไทย ที่มีพฤติการณ์ตั้งแก๊ง ไม่ว่าจะอาศัยในบ้านเช่าหรือโรงแรม
6.ประสานกระทรวงการต่างประเทศติดต่อรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านสร้างความร่วมมือหากขยายผลขอให้ส่งตัวผู้ต้องหากลับ
7.ประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แก้ไขระเบียบคุมการซื้อขายคริปโต
8.ประสานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกระเบียบชะลอชำระเงินเมื่อซื้อของออนไลน์กรณีผิดปกติให้ยืดการจ่ายไป 5 วัน

นายประเสริฐกล่าวด้วยว่า นอกจากกระทรวงดีอีจะบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น เพื่อลดความเสียหายและปิดช่องโหว่การก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพ ยังมีการหารือกับภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจสอบพฤติการณ์ และปิดช่องโหว่การทำงานของมิจฉาชีพ เช่น ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เป็นต้น

“เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) มีโอกาสพูดคุยกับทีมไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ในการนำเทคโนโลยีของบริษัทมาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพ ซึ่งบริษัทพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยมีกรณีศึกษาการใช้งานในหน่วยงานภาครัฐแล้ว เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พัฒนาแพลตฟอร์มด้านสุขภาพจากเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์”