ธปท.เร่งแผนลดใช้ “เงินสด-เช็ค” แบงก์ชงเก็บค่า “ฝาก-ถอน” ที่สาขา

ธปท.เร่งแผนปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมใช้ “เงินสด-เช็ค” ตั้งเป้า 5 ปีลดใช้เช็คทั้งระบบต่ำกว่า 50% เผยแนวทางเก็บค่าธรรมเนียมทำธุรกรรม “ฝาก-ถอน” เงินสดที่สาขา หนุนลูกค้าใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แบงก์ขานรับชี้ “เช็คกระดาษ” ลดลงต่อเนื่องทั้งปริมาณและมูลค่า เผยจำนวนเช็คทั้งระบบ 80-90 ล้านรายการต่อปี ต้นทุนบริหารสูงต้องเก็บรักษาตาม กม. 10 ปี

ปรับค่าฟี “เงินสด-เช็ค”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภูมิทัศน์การเงิน (consultation paper) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนหนึ่งเพื่อให้ภาคการเงินใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ด้วยการแข่งขันอย่างเท่าเทียม พร้อมเอื้อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยในหัวข้อการเพิ่มประสิทธิภาพและเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบัน ธปท.จะมีการทบทวนโครงสร้างราคาบริการชำระเงิน โดยเฉพาะ “เงินสดและเช็ค” เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง มีความเหมาะสม และเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ และผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

โดย ธปท.จะหารือและสรุปโครงสร้างค่าธรรมเนียมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 และกำหนดแผนการปรับค่าธรรมเนียมโดยเฉพาะเงินสดและเช็คต่อไป เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจและประชาชนหันมาใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์อย่างแพร่หลาย เพื่อให้มีการใช้เงินสดลดลง

โดยได้กำหนดนโยบาย “ลดการใช้เงินสด” ในปี 2567 ด้วยอัตราเร่ง 2 เท่าของค่าเฉลี่ยในปี 2561-2564 (มูลค่าการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มลดลง -6.50% และถอนเงินสดผ่านเคาน์เตอร์ -11.18% และลดการใช้เช็คกระดาษให้เหลือไม่ถึง 50% ของปริมาณใช้ในปัจจุบันภายใน 5 ปี หรือในปี 2569)

ธุรกรรมน้อยแต่ต้นทุนสูง

โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า การชำระเงินด้วยเช็คมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง ทั้งในแง่ปริมาณการชำระเงินด้วยเช็คและมูลค่าการชำระเงินด้วยเช็ค โดยจากสถิติในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 พบว่าปริมาณการชำระด้วยเช็คอยู่ที่ 63.8 ล้านรายการ จากช่วง 11 เดือนปี 2563 ที่อยู่ 75.9 ล้านรายการ หรือมีอัตราการหดตัว -15.9%

ขณะที่มูลค่าการชำระเงินด้วยเช็คช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 34.1 ล้านล้านบาท ลดลง -12.1% เมื่อเทียบกับช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 ที่มีมูลค่า 38.8 ล้านล้านบาท สวนทางกับทิศทางธุรกรรมชำระผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ถกคิดค่าฟี “ฝาก-ถอน” สาขา

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้พูดคุยกันในประเด็นดังกล่าว โดย ธปท.ให้ธนาคารชี้แจงรายละเอียด เรื่องของต้นทุนว่ามีอะไรบ้าง เพื่อพิจารณาทบทวนโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมต่อไป เนื่องจากการใช้เงินสดมีต้นทุนค่อนข้างสูง รวมถึงการใช้เช็คที่มีแนวโน้มลดลง แต่ธนาคารยังคงมีค่าบริหารจัดการอยู่ อย่างไรก็ตาม จะสามารถลดได้เร็วมากน้อยได้ตามเป้าหมายหรือไม่ต้องรอดู

สำหรับแนวทางคาดว่าจะมีการกำหนดค่าธรรมเนียมในการทำ “ธุรกรรมเงินสด” เช่น ลูกค้าที่ทำธุรกรรมฝาก-ถอนเงินสดผ่านเคาน์เตอร์สาขาธนาคาร อาจจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทำธุรกรรม อาทิ 5-10 บาทต่อรายการ หรือกรณีเช็ค เดิมค่าธรรมเนียมฉบับละ 20-30 บาท อาจจะปรับราคาขึ้นเป็น 40 บาท เพื่อผลักดันให้ลูกค้าหันไปใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

“หากลดการใช้ได้จะดีทั้งแบงก์และลูกค้า เพราะต้นทุนการบริหารจัดการแบงก์ก็ลดลง และลูกค้าก็ประหยัดต้นทุนเรื่องการเดินทางและเวลา แต่อาจจะไม่ได้ยกเลิกการใช้แบบ 100% เพราะมีบางกลุ่มยังใช้อยู่ แต่สัดส่วนการใช้จะลดลงเรื่อย ๆ ภายใต้แนวทางที่ ธปท.และธนาคารจะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับ”

เช็คต้นทุนสูงต้องเก็บไว้ 10 ปี

นางสาวศิริพร วงศ์ตรีภพ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การใช้เช็คโดยรวมลดลงค่อนข้างชัดเจนกว่า 10% ต่อปี โดยผู้ใช้เช็คหน้าใหม่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กเกือบทั้งหมด ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เดิมใช้เช็คจำนวนมากก็ทยอยเปลี่ยนไปใช้วิธีการช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นให้การใช้เช็คลดลงก็คือโควิด-19

ทั้งนี้ หากเทียบปริมาณธุรกรรมเช็ค กับธุรกรรมโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จะเห็นว่าการใช้เช็คถือว่ามีปริมาณน้อยมาก แต่เป็นบริการทางการเงินที่มีต้นทุนสูงมาก เนื่องจากจะต้องส่งมอบ เคลื่อนย้าย เก็บรักษาไว้อีก 10 ปี ตามกฎหมายอีกด้วย

“หาก ธปท.ให้มีการปรับค่าบริการใหม่ที่สอดคล้องกับต้นทุนของธนาคาร เชื่อว่าเมื่อผู้ประกอบการที่ใช้เช็คคงต้องไปทบทวนต้นทุนค่าธรรมเนียมใหม่ที่ต้องจ่าย จะส่งผลให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินรูปแบบอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่า”

แบงก์เชียร์ ธปท.ปรับค่าฟี

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการทำธุรกรรมเช็คของลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่อง โดยบริษัทขนาดใหญ่ลดลงค่อนข้างมาก โดยหันไปทำธุรกรรมชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น เช่น การโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล หรือการใช้ e-Invoice เป็นต้น หาก ธปท.มีการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมจริง ต้นทุนการเงินของประเทศจะลดลง

นางสาวยิ่งลักษณ์ คงคาสัย ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกรรมการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันการใช้เช็คในภาคธุรกิจและบุคคลมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยภาพรวมปริมาณการใช้เช็คทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 80-90 ล้านรายการต่อปี โดยต้นทุนที่เกิดขึ้นจะมีทั้งในฝั่งของธนาคารผู้ออกเช็คและธนาคารผู้รับฝากเช็ค เริ่มตั้งแต่ต้นทุนการพิมพ์เช็ค อากรแสตมป์ การเก็บรักษา การส่งมอบให้ลูกค้า และที่สำคัญคือเงินลงทุนในการพัฒนาระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“1-2 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินในภาคบุคคลผ่านพร้อมเพย์สะดวกมากขึ้น และภาคธุรกิจก็มี smart financial infrastructure for business รับส่งเอกสารการซื้อขายในรูปแบบดิจิทัล ชำระเงินหรือขอสินเชื่อ supply chain finance ในรูปแบบออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพการค้า ลดต้นทุนในด้านการจัดการเอกสาร และมีข้อมูลการชำระเงินที่แม่นยำ เชื่อถือได้”