การระบาดของ ASF อาจทำให้ราคาหมูแพง อยู่ไปอีกสองปี

คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรได้รับในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 38 ปี แต่อย่างไรก็ดี ระดับราคาได้เริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.พ.

ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ราคาสุกรในไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วจริงหรือ ? และราคาสุกรแพงจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน ?

ราคาสุกรมีชีวิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในเดือน ม.ค. ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

พบว่า ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรได้รับในเดือน ม.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 29.8% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 100.5 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการระบาดของโรค ASF ในฟาร์มเลี้ยงสุกร ซึ่งเป็นโรคระบาดรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสและปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ส่งผลให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราการตาย30-100% ซึ่งโรคระบาดดังกล่าวมีส่วนทำให้ผลผลิตสุกรในเดือน ม.ค. ปรับตัวลดลง จนไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว และส่งผลให้ราคาสุกรในเดือน ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การระบาดของ ASF ในต่างประเทศ ทำให้ผลผลิตสุกรปรับตัวลดลงและราคาสุกรปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี โดยการระบาดของ ASF ในทวีปเอเชีย เริ่มต้นขึ้นในเดือน ส.ค. 2018

โดยพบครั้งแรกในประเทศจีน ก่อนกระจายไป16 ประเทศในเอเชีย จากบทเรียนการระบาดASF ในจีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่า หลัง ASF ระบาด ผลผลิตสุกรจะปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก และต้องใช้เวลามากกว่าสองปีก่อนที่ระดับผลผลิตจะฟื้นกลับไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับก่อนเกิดการระบาด

ในกรณีของจีน ซึ่งภาครัฐยืนยันว่ามีการระบาดของ ASF ครั้งแรกในเดือน ส.ค. 2018 พบว่า ปริมาณผลผลิตสุกรในปี 2019 ปรับตัวลดลง 21.3% YOY และปรับลดลงต่อเนื่องอีก 14.6% YOY ในปี 2020 ก่อนที่จะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.4% YOY ในปีที่ผ่านมา

หรือในกรณีเวียดนาม ซึ่งภาครัฐยืนยันว่ามีการระบาดของ ASF ครั้งแรกในเดือน ก.พ. 2019 พบว่า ปริมาณผลผลิตสุกรในปี 2019 ปรับตัวลดลง 30.3% YOY ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.3% YOY

ในปี 2020 อัตราการเพิ่มขึ้นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้ผลผลิตสุกรในเวียดนามจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ระดับผลผลิตก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของ ASF ค่อนข้างมาก ซึ่งผลผลิตสุกรที่ปรับตัวลดลงมีส่วนทำให้ราคาสุกรในจีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 2 ปี

ตัวอย่างเช่น ราคาสุกรในจีนในปี 2019 และ 2020 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 77.0% และ 55.1% ตามลำดับ หรือราคาสุกรในเวียดนามในปี 2019 และ 2020 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.4% และ 61.7% ตามลำดับ

บทเรียนจากการระบาดของ ASF ในต่างประเทศข้างต้น สะท้อนว่า ราคาสุกรในไทยอาจจะยังไม่ผ่านจุดสูงสุดและคนไทยอาจจะต้องอยู่กับราคาสุกรแพงไปอีกสองปี

ทั้งนี้ ราคาสุกรที่ปรับตัวลดลง 7.7% MOM ในเดือน ก.พ. อาจเป็นการย่อตัวลงในระยะสั้น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตรการตรวจสต๊อกของภาครัฐ ที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องเร่งระบายเนื้อสุกรในสต๊อกออกสู่ตลาด

แต่ราคายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกเนื่องจาก EIC คาดว่า ผลผลิตสุกรในไทยในปี 2022 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 20.0% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยปริมาณผลผลิตสุกรในปีนี้จะลดลงมากหรือน้อยกว่าที่คาดการณ์เพียงใด ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและระยะเวลาของการระบาดของ ASF เป็นหลัก

ข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ณ วันที่ 17 ก.พ. 2022 พบว่า มีการระบาดของโรคASFแล้วในพื้นที่ 20 จังหวัดของไทย ซึ่งผลผลิตสุกรที่ลดลงท่ามกลางความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นและราคาวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่ทรงตัวในระดับสูง

ทำให้ EIC คาดว่า ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรได้รับในปี 2022 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 25.0% โดยจากบทเรียนการระบาดของ ASF ในต่างประเทศ ก็มีโอกาสสูงที่ราคาสุกรในไทยจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2023 จากผลผลิตสุกรที่อาจจะยังไม่กลับไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อน ASF ระบาด

ทั้งนี้ สิ่งที่ไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญในระยะยาว คือ มาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยต้องมุ่งไปสู่การยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการฟาร์มสุกรให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity)

ซึ่งนอกจากจะเป็นการปรับตัวไปสู่ระบบการเลี้ยงสุกรที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนแล้ว ยังตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคในเรื่อง food safety ได้อีกด้วย